SPCG ชี้ธุรกิจติดตั้งโซลาร์บนหลังคาเติบโต คาดหนุนผลประกอบการไตรมาส 2 ดีขึ้น ดันรายได้ทั้งปีแตะ 5.5 พันล้านบาท

1089
นางสาวรุ่งฟ้า ลาภยืนยง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บมจ. เอสพีซีจี (SPCG)
- Advertisment-

SPCG คาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นกว่าในไตรมาสแรกและช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการเติบโตของธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจดังกล่าวชะลอตัวลง โดยขณะนี้บริษัทมีงานติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นหลายโครงการ พร้อมตั้งเป้าหมายรายได้รวมทั้งปี 2564 อยู่ที่ 5.5 พันล้านบาท

นางสาวรุ่งฟ้า ลาภยืนยง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บมจ. เอสพีซีจี (SPCG) นำเสนอผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2564 ของ SPCG ในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2564 และได้เปิดเผยถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 2/2564 ด้วย ซึ่งคาดว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตดีขึ้นกว่าในไตรมาสแรกและช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยมีปัจจัยหลักมาจากธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ Solar Rooftop ที่ปรับตัวดีขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจดังกล่าวชะลอตัว

โดยขณะนี้บริษัทมีโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นจำนวนมาก อีกทั้งคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงในช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป นอกจากนั้น บริษัทยังมีการทำลิสซิ่งให้กับลูกค้าที่ต้องการติดตั้งโซลาร์บนหลังคา ทำให้มีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาติดตั้งเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนให้รายได้จากการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาทั้งปีเติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 700 ล้านบาท

- Advertisment -

สำหรับผลประกอบการ ไตรมาสที่ 1/2564 ของ SPCG มีรายได้รวมจากการขายและให้บริการราว 1,172.7 ล้านบาท ลดลง 19% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน (ที่ทำได้ 1,454.7 ล้านบาท) มีกำไรสุทธิ 782.3 ล้านบาท ลดลง 7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน (คิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.69 บาท) ที่มีกำไรอยู่ 837.8 ล้านบาท (คิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.77 บาท) หรือกำไรสุทธิลดลงราว 55.5 ล้านบาท สาเหตุที่รายได้ปรับตัวลดลงเป็นผลจากเงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จำนวน 8 บาทต่อหน่วยของบริษัท โซล่า เพาเวอร์ (สกลนคร 1) จำกัด ที่มีกำลังผลิตราว 7.46 เมกะวัตต์ (ซึ่งเป็น 1 ใน 36 โซลาร์ฟาร์มของบริษัท) ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

นางสาวรุ่งฟ้า กล่าวว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้รวมทั้งปี 2564 ไว้ที่ 5.5 พันล้านบาท และบริษัทฯ มีแผนที่จะขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยโครงการโซลาร์ฟาร์มบนพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยบริษัท เซท เอนเนอยี จำกัด ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่าง SPCG กับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในไตรมาส 1 ปี 2565 จำนวน 300 เมกะวัตต์ จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะ COD ได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กระบวนการต่างๆ ตามแผนงานล่าช้าออกไปเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม คาดว่าโครงการโซลาร์ฟาร์มใน EEC นี้ จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ครบจำนวน 500 เมกกะวัตต์ ในปี 2566

ทั้งนี้ SPCG ตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 โดยมุ่งเน้นดำเนินโครงการพลังงานสะอาดโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟท็อปเป็นหลัก ปัจจุบันมีโครงการในประเทศไทยทั้งหมด 36 โครงการ รวมกำลังการผลิตกว่า 260 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการลงทุนโครงการคุกิชิมะ ในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 480 เมกะวัตต์

Advertisment