SPCG จับมือ PEA ENCOM ลงนาม ศึกษา พัฒนา วิจัย และลงทุนระบบกักเก็บพลังงานเชิงพาณิชย์ สําหรับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC ) สอดรับมติ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) คาด 2 เดือนรู้ผลจะใช้เทคโนโลยีของ เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลี หรือจีน ในขณะที่โครงการโซลาร์ฟาร์มชุดแรก 15 เมกะวัตต์ ภายใต้แผนเฟสแรก 500 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในไตรมาส 3 ปีนี้
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) (SPCG) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (PEA ENCOM) และผู้แทนจากบริษัท เซท เอ็นเนอยี่ จำกัด (SET Energy) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน เพื่อศึกษา พัฒนา วิจัย และลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อการบริหารจัดการพลังงาน สําหรับโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และ พลังงานสํารอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) เพื่อใช้ในเขตพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC ) ณ อาคาร LED การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สำนักงานใหญ่)
โดยการร่วมมือครั้งนี้จะมีการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายในส่วนที่เป็นที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ และโรงงานอุตสาหกรรม ที่จะลงทุนติดตั้งระบบแบตเตอรี่ในเชิงพาณิชย์เป็นโครงการนำร่องเพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้พลังงานไฟฟ้า รวมทั้งการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยมีหลายทางเลือกในการพิจารณา อาทิ เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลี และ จีน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจะได้ข้อสรุป
ดร.วันดี กล่าวว่า การร่วมกัน ศึกษา วิจัย พัฒนา และลงทุนระบบกักเก็บพลังงานครั้งนี้ เพื่อเป็นการบริหารจัดการพลังงาน สําหรับโครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสํารอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) เพื่อใช้ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) 3 จังหวัด คือ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา สอดคล้องตามมติ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.)
ทั้งนี้บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนให้พื้นที่ EEC ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) เป็นเมืองพลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ EEC ให้เป็นพื้นที่สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นพลังงานสะอาด และพลังงานสํารอง จากระบบกักเก็บพลังงาน สอดคล้องกับบริบทโลกปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและช่วยลดภาวะโลกร้อน
โดยสำหรับความคืบหน้าในส่วนของการลงทุนโซลาร์ฟาร์มในโครงการเฟสแรก 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ EEC นั้น ได้มีการเตรียมพร้อมพื้นที่บางส่วนเพื่อดำเนินการโซลาร์ฟาร์มแล้ว โดยชุดแรก 15 เมกะวัตต์จะแล้วเสร็จและจ่ายไฟเข้าระบบของ PEA ได้ในไตรมาสที่สามปีนี้ และโซลาร์ฟาร์มชุดต่อๆไปก็จะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบต่อเนื่องไปตามแผนรวมไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2564-2569 มูลค่าการลงทุนกว่า 1.9- 2.3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามการรับรู้รายได้ที่จะเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่สามนั้น จะยังมีไม่มากนักเพราะยังถูกหักดอกเบี้ยเงินกู้ในสัดส่วนค่อนข้างสูง
ด้าน นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (PEA ENCOM ) กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ EEC จำเป็นจะต้องมีการลงทุนระบบกักเก็บพลังงานเชิงพาณิชย์ ควบคู่ไปด้วย เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อความมั่นคงไฟฟ้าของระบบ โดยในช่วงที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ออกมาในช่วงเวลากลางวันและยังไม่มีความต้องการใช้ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกนำมากักเก็บไว้ในระบบแบตเตอรี่เพื่อนำมาจ่ายคืนในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเกิดขึ้น ซึ่งถึงแม้การลงทุนในช่วงแรกของระบบแบตเตอรี่จะมีราคาสูง แต่ต้นทุนรวมทั้งหมดจะไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้า เพราะถูกคิดรวมในราคาเท่ากับราคาขายส่งที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือ PEA ซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
นายเขมรัตน์ กล่าวด้วยว่า ในเป้าหมาย ของการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ EEC ระยะแรกไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ นั้น คาดว่าการลงทุนในส่วนของระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน น่าจะเกิน 100 เมกะวัตต์/ชั่วโมง โดยการคัดเลือกเทคโนโลยีแบตเตอรี่นั้น จะพิจารณาจากปริมาณไฟฟ้าที่กักเก็บได้มาก อายุการใช้งานที่ยาวนาน ราคาไม่แพงมาก รวมทั้งต้องสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของพื้นที่นั้นๆ ซึ่งการลงทุนในเชิงพาณิชย์นำร่องเป็นครั้งแรกจะช่วยให้สามารถคำนวณต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง เพื่อประโยชน์ในการขยายผลสู่เฟสต่อๆไปได้ในอนาคต
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center –ENC ) รายงานเพิ่มเติมว่า การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงาน ในพื้นที่ EEC นั้น เป็นไปตามมติแผนงานที่ทาง สกพอ.นำเสนอให้ กพอ.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้ความเห็นชอบ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยมีการประเมินถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ EEC ครอบคลุม 3 จังหวัด คือฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 4,475 เมกกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ในแผนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่EEC ได้กำหนดสัดส่วนให้การใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ 70:30% เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งใช้ เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้จะต้องมีการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เฟสแรกไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์
โดยการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในพื้นที่ EEC นั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ซึ่งมติของ กพอ. ที่ออกมาตามอำนาจของกฏหมายดังกล่าวจะมีผลผูกพันกับกระทรวงและหน่วยงานทุกหน่วยที่เป็นกรรมการอยู่ด้วย ซึ่งล้วนแต่เป็นกระทรวงและหน่วยงานที่สำคัญ อาทิ กระทรวงการคลัง พลังงาน อุตสาหกรรม เกษตรและสหกรณ์ คมนาคม พาณิชย์ ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แรงงาน สาธารณสุข ศึกษาธิการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาดไทย กลาโหม รวมทั้ง สำนักงบประมาณ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ทั้งนี้การที่ กพอ.เห็นชอบแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานเฟสแรกไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ และได้รายงานให้ คณะรัฐมนตรีรับทราบมตินั้นแล้ว จะมีผลให้กระทรวงพลังงานที่ร่วมเป็นกรรมการอยู่ใน กพอ.จะต้องไปดำเนินการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผนPDP โดยบรรจุโครงการการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานดังกล่าว เข้าไปรวมอยู่ในแผนให้สอดคล้องกันด้วย