Shipper 4 รายแจ้งขอนำเข้าLNGโควต้าปี 65 ตามนโยบายเปิดเสรีก๊าซ

1743
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผย Shipper 4 ราย แจ้งใช้โควต้านำเข้า LNG 4.5 ล้านตันของปี 2565 พร้อมจองใช้ สถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว แล้ว ทั้ง บี.กริม, กัลฟ์ แอลเอ็นจี , กฟผ.และ PTTGL
คาดนำเข้าได้หลัง เม.ย. 2565 ระบุ 4 เดือนแรกปี2565 ปตท.นำเข้ารายเดียวเกือบ 1.5 ล้านตัน รองรับกรณีแหล่งก๊าซเอราวัณผลิตได้น้อยช่วงเปลี่ยนผ่านหลังหมดอายุสัมปทาน

แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยความคืบหน้าการขอใช้สิทธิ์โควต้านำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ประจำปี 2565 จำนวน 4.5 ล้านตันว่า ปัจจุบันมี Shipper หรือ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ จำนวน 4 ราย ได้แจ้ง กกพ. เพื่อเตรียมนำเข้า LNG ที่ยังเหลือโควต้าอีก 2.7 ล้านตัน ได้แก่ 1.บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด 2.บริษัท กัลฟ์ แอลเอ็นจี จำกัด 3.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งทั้ง 3 รายได้เข้าจองสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) แล้ว และ 4..บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL ซึ่งบริษัทฯนี้ยังไม่สามารถจอง LNG Terminal ได้เพราะคิว Terminal เต็มและคาดว่าอาจต้องเจรจากับบี.กริม เพื่อขอส่วนแบ่งก๊าซฯ หรือขอส่วนแบ่ง Terminal ตามแต่จะตกลงกัน

สำหรับ LNG Terminal แห่งใหม่ที่หนองแฟบจะเปิดให้จองใช้ได้กลางปี 2565 นี้

- Advertisment -

สำหรับโควต้า LNG 4.5 ล้านตัน ปี 2565 ที่เพิ่มเติมจากLNG ตามสัญญาระยะยาวของปตท. นี้ ในรายละเอียดแล้วได้ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1. จำนวน 1.75 ล้านตัน สำหรับ Shipper รายใหม่ที่ต้องการนำเข้า LNG ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐ ได้สำรองไว้ให้อีก 1 ล้านตันกรณีความต้องการใช้มากขึ้น รวมแล้วเท่ากับ 2.75 ล้านตัน แต่ในกรณีความต้องการใช้สูงเกินกว่าที่สำรองให้ 1 ล้านตัน ก็สามารถขยายเพิ่มได้

และส่วนที่ 2 อีก 1.8 ล้านตัน ซึ่งเป็นโควต้าของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) สำหรับรองรับกรณีไม่สามารถผลิต ก๊าซฯในแหล่งเอราวัณได้ตามสัญญา เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อกับการหมดสัญญาสัมปทาน ในเดือน เม.ย. 2565

ดังนั้นรวมทั้งสองส่วนเป็นโควต้านำเข้า LNG ปี 2565 เท่ากับ 4.55 ล้านตัน ส่วนการนำเข้าจริงจะมากหรือน้อยกว่า 4.55 ล้านตัน ต้องรอดูก่อน เนื่องจากขณะนี้ราคา LNG โลกพุ่งสูง ทาง Shipper อาจต้องพิจารณาความคุ้มค่าด้วย

สำหรับ Shipper ที่ต้องการนำเข้า LNG ในโควต้าปี 2565 สำหรับนำเข้าเพื่อใช้เอง โดยไม่ขายไฟฟ้าเข้าระบบนั้น จะต้องทำเป็นสัญญาซื้อก๊าซฯ ระยะยาว 3-5 ปีขึ้นไป และต้องออกจากระบบการซื้อก๊าซฯของ ปตท. ระยะยาวด้วย เพื่อไม่ให้กระทบกับการบริหารจัดการระบบก๊าซฯในประเทศ

เช่น Shipper ต้องการออกจากระบบการซื้อก๊าซฯ ปตท.เพื่อมาจัดหานำเข้าเองตามโควต้า ปี 2565 จำนวน 1 ล้านตัน ก็ต้องนำเข้าและใช้หมดภายในปี 2565 และในปีถัดไป 2566 และ 2567 ก็ต้องขอใช้โควต้านำเข้า LNG ในปีนั้นๆ ในปริมาณเท่าเดิมต่อไป เป็นต้น

สำหรับ Shipper รายใหม่ที่ต้องการนำเข้า LNG ตามโควต้าดังกล่าว เพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (Regulated Market) นั้น เบื้องต้นได้แก่ ปตท. , กัลฟ์, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
และ บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งขณะนี้แต่ละรายได้เริ่มกระบวนการเจรจาจัดซื้อก๊าซ LNG ตั้งแต่ต้นปี 2565 แบบสัญญาระยะยาว เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อค่าไฟฟ้าโดยรวม ส่วนราคานำเข้าต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับราคานำเข้า (LNG Benchmark) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งกำหนดไว้ 3 หลักเกณฑ์ให้เลือกใช้ได้แก่ 1.หลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG ที่ปรับขึ้นลงตามราคาน้ำมันโลก 2. ราคานำเข้า LNG ที่จะปรับขึ้นลงตามราคา LNG โลก และ 3. ราคา LNG ที่จะปรับขึ้นลงตามราคาน้ำมันโลกและราคา LNG โลกผสมกัน ทั้งนี้คาดว่า Shipper รายใหม่ น่าจะเริ่มนำเข้าได้หลังเดือน เม.ย.นี้ เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตามการนำเข้า LNG ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 นี้(ม.ค.-เม.ย.65) กกพ. ได้อนุมัติให้ ปตท.เป็นผู้นำเข้า LNG เพียงรายเดียว เนื่องจากสถานการณ์ราคา LNG ตลาดโลกยังผันผวนในระดับสูง ขณะที่ปริมาณการผลิตก๊าซฯจากแหล่งในประเทศลดลง ทำให้ Shipper รายใหม่ มีเวลาเตรียมพร้อมน้อย จึงมอบหมายให้ ปตท.ซึ่งเป็น Shipper รายแรกของประเทศที่มีประสบการณ์จัดหาและนำเข้าก๊าซฯ เป็นผู้ดำเนินการไปก่อน ซึ่งเบื้องต้น คาดว่า ปตท.ได้นำเข้า LNG ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 นี้ ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน เพื่อรองรับกรณีหากแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ ผลิตก๊าซฯได้ต่ำกว่า 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากสัญญาที่กำหนดให้ผลิตขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

Advertisment