SETA 2022 เอกชนชี้ทิศทางโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นหลังค่าไฟฟ้าพุ่งสูง

1324
- Advertisment-

สัมมนา Solar and Storage ในหัวข้อ เกาะติดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านเซลล์แสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงาน “Solar PV and Storage : Technology Advancement Update” ซึ่งจัดขึ้นในวันสุดท้ายของงาน SETA 2022 หรืองานประชุมแสดงสินค้าและนิทรรศการด้านไฟฟ้าและพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ประจำปี 2565 ภาคเอกชนประสานเสียงยืนยันการติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยบูมแน่  หลังค่าไฟฟ้าปี2565 พุ่งสูงเกิน 4 บาทต่อหน่วย ชี้อีก 20 ปีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์แตะ 6-7 หมื่นเมกะวัตต์ ดันยอดใช้พุ่งถึง 50% เทียบกับเชื้อเพลิงทั้งหมด เหตุคุ้มค่าคืนทุนเร็วใน 5 ปี พร้อมแนะภาครัฐเร่งปรับลดกฎระเบียบโซลาร์รูฟท็อป หวังภาคครัวเรือนเข้าถึงการติดตั้งและผลิตไฟฟ้าใช้เอง เชื่อส่งผลให้การติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อปโตแบบก้าวกระโดดแน่

ศ.ดร.ดุสิต เครืองาม นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ สมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย กล่าวว่า  การติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าในประเทศมีแนวโน้มเติบโตแน่นอน จะเห็นได้ว่าในอดีตที่ผ่านมาไทยเริ่มต้นติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลสายส่งไฟฟ้า ต่อมาก็เริ่มติดตั้งบนหลังคา หรือที่เรียกว่า โซลาร์รูฟท็อป จากนั้นภาครัฐก็เข้ามาให้การสนันสนุนด้วยระบบการให้เงินส่วนเพิ่มในการผลิตไฟฟ้า หรือ Adder และเปลี่ยนมาเป็นระบบการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(Feed in Tariff -Fit) จนในปี 2565 นี้ เริ่มเข้าสู่ภาวะไม่ต้องรับการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว เนื่องจากต้นทุนการผลิตถูกลงและสามารถแข่งขันได้เอง 

เมื่อมาดูในส่วนของกำลังผลิตไฟฟ้าจะพบว่า ในปี 2564 ทั่วโลกมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ทุกชนิดเพื่อผลิตไฟฟ้ารวม 6 แสนเมกะวัตต์ สูงกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากทุกเชื้อเพลิงในประเทศไทยที่มีกำลังผลิตรวม 4-5 หมื่นเมกะวัตต์ และในแต่ละปี โลกจะติดตั้งโซลาร์ฯอยู่ประมาณ 1 แสนเมกะวัตต์ โดยจีนประเทศเดียวติดตั้งถึง 5 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่ประเทศไทยนั้นคาดว่าจะติดตั้งเฉลี่ยปีละ 500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันไทยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแล้ว 1,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าทางธุรกิจถึง 4 หมื่นล้านบาท และคาดว่าทุกปีจะมีมูลค่าทางธุรกิจเพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท 

- Advertisment -

นอกจากนี้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้ายังถือว่าคุ้มค่ามาก เมื่อเทียบกับการต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยค่าไฟฟ้าเดือน ก.ย. 2565 ได้ปรับสูงขึ้นกว่า 4 บาทต่อหน่วยและเมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยทำให้ค่าไฟฟ้าบ้านเรือนสูงถึง 5.70 บาทต่อหน่วย ขณะที่บ้านที่ใช้ระบบคิดค่าไฟฟ้าแบบ TOU หรืออัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาการใช้ คือกลางวันราคา 7.20 บาทต่อหน่วย กลางคืนราคา 3.80 บาทต่อหน่วย เป็นต้น ซึ่งการที่ค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ภาครัฐได้ให้เหตุผลว่าเกิดจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและในเมียนมาผลิตได้ลดลง ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพง 

ดังนั้นการติดตั้งโซล่าร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าใช้เองจึงเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุด ซึ่งปัจจุบันต้นทุนโซลาร์เซลล์ถูกลงทำให้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารขนาดใหญ่ที่ติดตั้งโซลาร์ฯ ได้รับการคืนทุนเร็วภายใน 5 ปี ส่วนกลุ่มที่ได้การส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะคืนทุนเร็วภายใน 2-3 ปี ดังนั้นปัจจุบันโรงงานส่วนใหญ่จึงพยายามติดตั้งโซลาร์ฯ เพื่อลดต้นทุนกันมากขึ้น 

ส่วนภาคครัวเรือนต้องยอมรับว่ายังติดตั้งโซลาร์ฯได้ช้า เนื่องจากมาตรการภาครัฐไม่จูงใจ โดยรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเพียงราคา 2.20 บาทต่อหน่วย ขณะที่ราคาค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจ่ายให้การไฟฟ้าสูงถึงกว่า 4 บาทต่อหน่วย รวมทั้งภาครัฐไม่มีงบสนับสนุนการลงทุนสำหรับภาคครัวเรือนและปัญหาสำคัญอีกประการคือ ระเบียบราชการที่เป็นอุปสรรคต่อการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป แม้ที่ผ่านมาภาคเอกชนจะกระตุ้นให้ภาครัฐแก้ไขกฎระเบียบที่ยุ่งยากมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่หมด 

โดยที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ยกเว้นให้การติดตั้งโซลาร์ฯ ขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(รง.4) ไปแล้ว และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ยกเลิกใบ รง.4 กับโรงไฟฟ้าทุกชนิดด้วย เพื่อจะได้ไม่ติดปัญหาด้านผังเมือง รวมทั้งการเปิดเสรีไฟฟ้า ซึ่งเชื่อว่าอนาคตอุปสรรคต่างๆจะลดลงไปอีกและทำให้ภาคครัวเรือนได้ติดตั้งโซลาร์ฯ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองได้มากขึ้น 

 

นายสัมฤทธิ์ สิทธิวรานุวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Solar D กล่าวว่า มั่นใจว่าการติดตั้งโซลาร์ฯในประเทศไทยจะเติบโตอย่างแน่นอน โดยดูจากทิศทางของโลกที่ปัจจุบันใช้ไฟฟ้าจากโซล่าร์ฯ อยู่ประมาณ 10% ของกำลังผลิตไฟฟ้าจากทุกประเภท และโลกคาดการณ์ว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้นถึง 50% ในอีก 20 ปีข้างหน้า  ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในอนาคตจะสูงถึง 6-7 หมื่นเมกะวัตต์  ซึ่งประเทศไทยก็มีแนวโน้มจะใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น หลังจากค่าไฟฟ้าเดือน ก.ย. 2565 ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ประชาชนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ใช้เองมากขึ้น

นายวีรุจน์ เตชะสุวรรณ Country Manager บริษัท Solar Edge กล่าวว่า จากการทำธุรกิจด้านโซลาร์ฯ มากว่า 10 ปี ทำให้เห็นว่าปัจจุบันโรงงานและภาคครัวเรือนติดตั้งโซลาร์เซลล์กันมากขึ้นจริงๆยิ่งปัจจุบันได้รับการคืนทุนเร็วเพียง 5-7 ปี ขณะที่การผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฯมีอายุถึง 25 ปี ทำให้คุ้มค่าต่อการลงทุน ประกอบกับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นปีละ 2-3% ทำให้โซลาร์ฯ เป็นสิ่งที่น่าสนใจและเริ่มเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น โดยในต่างประเทศนั้นภาคครัวเรือนจะติดตั้งโซลาร์ฯมากกว่าภาคอุตสาหกรรม ส่วนในประเทศไทย ภาคอุตสาหกรรมกลับติดตั้งมากกว่าภาคครัวเรือนทั้งนี้เนื่องจากช่วยลดต้นทุนภาคอุตสาหกรรมได้ ดังนั้นแต่ละโรงงานจึงแข่งขันติดตั้งโซลาร์ฯกันเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคครัวเรือนยังเจออุปสรรคด้านการลงทุนและกฎระเบียบรัฐในการขออนุญาตทำให้การติดตั้งดูช้าลง ดังนั้นหากรัฐผ่อนคลายกฎระเบียบ เชื่อว่าภาคครัวเรือนจะหันมาติดตั้งโซลาร์ฯ กันอย่างก้าวกระโดด

นายวรวรรธน์ นาคะวิโร ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคด้านระบบไฟฟ้า บริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี่(ประเทศไทย) กล่าวว่า มั่นใจว่าการติดตั้งโซลาร์ฯจะเติบโตมาก เพราะแผนพลังงานแห่งชาติที่ออกมาใหม่จะมุ่งไปยังการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเป็นหลัก ประกอบกับช่วงนี้ค่าไฟฟ้าแพงทำให้ประชาชนหันมาสนใจการติดตั้งโซลาร์ฯ มากขึ้น แต่ยอมรับว่าสัดส่วนการติดตั้งภาคครัวเรือนยังน้อยเพราะราคายังไม่ถึงจุดที่ภาคครัวเรือนจะแห่ติดตั้ง ส่วนแบตเตอรี่ก็ยังติดตั้งน้อยเพราะราคาแพง อย่างไรก็ตามอยากให้ภาครัฐลดกฎระเบียบการออกใบอนุญาตติดตั้งโซลาร์ฯให้น้อยลง เพื่อให้ภาคครัวเรือนติดตั้งได้สะดวกขึ้น

ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมพลังงาน ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติและนายกสมาคมเทคโนโลยีระบบกับเก็บพลังงานไทย กล่าวว่า การติดตั้งแบตเตอรี่สำรอง(Storage)ในการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฯ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยกักเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ได้ตลอดวัน  แต่การเติบโตของการใช้ Storage ก็ขึ้นอยู่กับราคาเป็นหลัก โดยต้นทุน Storage จะอยู่ที่ 4 บาทต่อการเก็บไฟฟ้า 1 หน่วย เมื่อรวมกับการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯ อีก 2 บาทต่อหน่วย ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าจากโซลาร์ฯ สูงถึง 6 บาทต่อหน่วย ดังนั้นหากจะให้คุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ ฯต้นทุน Storage จะต้องถูกกว่า 4 บาทต่อหน่วย  หรือถ้าลดลงเหลือ 1.5 บาทต่อหน่วย และเมื่อรวมกับค่าผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯ 2 บาทต่อหน่วย ราคาค่าไฟฟ้าจะเหลือเพียง 3.5 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะถูกกว่าการใช้ดีเซลในการผลิตไฟฟ้า ที่มีราคาถึง 6 บาทต่อหน่วย ปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการผลิต Storage มากขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการกักเก็บพลังงานจะพบว่าลิเธียมไอออนยังคุ้มค่าต่อการใช้งานมากกว่าและยังคงเป็นเทคโนโลยีทางเลือกในการผลิต Storage ไปได้จนถึงปี 2583 

นางรัตติยา หรรษาภิพัฒน์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์เชื่อมโยงกับเครื่องใช้ไฟฟ้าตัวเอง หรือไม่ผ่านระบบสายส่งการไฟฟ้า จะไม่ต้องขออนุญาตติดตั้งโซลาร์ฯกับการไฟฟ้า ส่วนกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้า แต่มีโซลาร์ฯ เป็นไฟฟ้าสำรอง และกลุ่มที่ใช้โซลาร์ฯคู่ขนานกับการใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าจะต้องขออนุญาตติดตั้งโซลาร์ฯ จากการไฟฟ้าด้วย

โดยขั้นตอนดำเนินการสำหรับผู้ที่จะต้องขออนุญาตกับการไฟฟ้า มีดังนี้ 1.จะต้องยื่นขออนุญาตเชื่อมต่อระบบกับการไฟฟ้า 2.ยื่นขอจดแจ้งยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 3.เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะชำระค่าธรรมเนียม 4.จากนั้นติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ 5. การไฟฟ้าจะเข้าทำการเปลี่ยนมิเตอร์เป็นมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ให้แทน และ 6. เริ่มเข้าสู่กระบวนการเชื่อมต่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบโดยขั้นตอนทั้งหมดมีไว้เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเกิดความปลอดภัยทุกขั้นตอน

Advertisment