SCG จับมือพันธมิตร ปลุกกระแสติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ระบบ Hybrid ใช้ไฟฟ้าจากแสงแดดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แนะบ้านที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 3,000 บาทต่อเดือน ควรติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า ตั้งเป้าเดินหน้าติดตั้งกว่า 1,000 หลัง ในปี 2565 ในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย คาดสร้างรายได้โต 300% หรือกว่า 1 พันล้านบาท จากเทรนด์รักษ์โลกและค่าไฟฟ้าแพง 4 บาทต่อหน่วย ชี้รัฐควรพิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนเพิ่ม
นายธงชัย โสภณ Head of Housing Products Business บริษัท เอสซีจี รูฟฟิ่ง จำกัด เปิดเผยว่า SCG ผู้นำด้านนวัตกรรมระบบหลังคาโซลาร์สำหรับกลุ่มงานบ้านและที่อยู่อาศัย ได้จับมือกับพันธมิตร เดินหน้าแนวคิด “เอสซีจี โซลาร์รูฟ โซลูชัน” ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่เน้นอยู่บ้านและใช้ประโยชน์จากบ้านมากขึ้น ดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการแสวงหาแนวทางประหยัดค่าไฟฟ้า โดยแนวคิดดังกล่าวจะเน้นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด โดยใช้ระบบ Hybrid ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
สำหรับโซลาร์เซลล์ระบบ Hybrid ใช้แบตเตอรี่มาช่วยให้เก็บไฟฟ้าไว้ใช้ในช่วงกลางคืนได้ ซึ่ง SCG ได้จับมือกับ 3 กลุ่มพาร์ทเนอร์ เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานระบบหลังคาโซลาร์ในไทยขึ้นไปอีกระดับ โดยในเรื่องนวัตกรรมแบตเตอรี่ ได้จับมือกับ หัวเว่ย(Huawei) และ เอนเฟส เอ็นเนอร์จี้(Enphase Energy) ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอินเวอร์เตอร์ในสหรัฐฯ เพื่อนำเทคโนโลยีไมโครอินเวอร์เตอร์มาช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยระบบโซลาร์ ส่วนด้านการเงิน ได้จับมือกับธนาคารชั้นนำของไทยหลายแห่ง เช่น ธนาคารกสิกรไทย เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้สะดวกขึ้น และด้านภาครัฐได้จับมือกับการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) เพื่อให้การขออนุญาตติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ SCG รับติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ทั้งแบบธรรมดาที่ไม่มีแบตเตอรี่ โดยราคาอยู่ประมาณ 9.9 หมื่นบาท ต่อขนาดไฟฟ้า 1.3 กิโลวัตต์ และแบบ Hybrid ราคา4 แสนบาท ขนาดไฟฟ้า 6 กิโลวัตต์ ซึ่งมีแบตเตอรี่สามารถใช้ไฟฟ้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ควรพิจารณาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปคือ บ้านที่จ่ายค่าไฟฟ้าเกิน 3,000 บาทต่อเดือน และมีคนอยู่บ้านใช้ไฟฟ้าตอนกลางวัน จึงจะคุ้มค่า
อย่างไรก็ตามปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีโปรโมชั่นพิเศษ คือ ดอกเบี้ย 0% 3 เดือนแรก รวมถึงส่วนลดสูงสุด 70,000 บาท และ Tops E-voucher 2,000 บาท โดยคาดว่าหลังจากการโปรโมทในครั้งนี้แล้วเชื่อว่าจะมีลูกค้าสนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมียอดติดตั้งโซลาร์บนหลังคาบ้านประมาณกว่า 1,000 หลัง ตลอดในปี 2565 ทำให้มีรายได้เติบโตขึ้นถึง 300% หรือมีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีรายได้ประมาณ 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ปัจจุบันภาครัฐมีโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ซึ่งรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป 2.20 บาทต่อหน่วย นับเป็นอัตราที่ผู้บริโภคเห็นว่ายังน้อยเกินไป จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาอัตรารับซื้อให้เหมาะสมมากขึ้น และเห็นว่าภาครัฐยังควรต้องสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปต่อไป เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งระบบในประเทศได้รวดเร็วขึ้น
นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า ตอนนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ประกอบกับราคาค่าไฟฟ้าของไทยพุ่งสูงอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย ดังนั้นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจึงตอบโจทย์คนยุคใหม่มากขึ้น
สำหรับภาพรวมตลาดพลังงานนั้น คาดว่าหลังปี ค.ศ. 2050 หรือ 2593 จะเข้าสู่สังคมปลอดฟอสซิล และปัญหาโลกร้อนจะน้อยลงไปมาก โดยสัดส่วนการใช้ฟอสซิลจะเหลือ 10% จากปี 2562 ที่มีสัดส่วนการใช้อยู่ถึง 83% ส่วนการใช้พลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้นเป็น 85% จากเดิมใช้อยู่แค่ 12% แต่การใช้พลังงานนิวเคลียร์จะทรงตัวที่ 5% เท่าเดิม