PTTGC คาดธุรกิจปี 2568 สดใส หลังผ่านจุดต่ำสุดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปีนี้

88
- Advertisment-

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC คาดช่วงฤดูหนาวปลายปี ราคาน้ำมันอาจจะปรับขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจ คาดผลการดำเนินงานปี 2568 ดีขึ้นจากปี 2567 รับการทยอยฟื้นตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หลังผ่านจุดต่ำสุดในปี 2567 ขณะที่ปริมาณการขายเพิ่มขึ้น จากการก่อสร้างโรงงาน วีนิไทย แล้วเสร็จ และ  NatureWorks ขยายการผลิต ย้ำปี 2568 ยังต้องคุมค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างผลกำไรและฐานะการเงินที่แข็งแกร่งต่อไป

น.ส.พรสุข ลิ้มสถิตย์  vice President :  Corporate Finance & Investor Relations บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยในงาน oppday Q3/2024 ของ PTTGC เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2567 โดยระบุว่า คาดว่าทิศทางราคาปิโตรเลียม เช่น น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา ในปี 2568 จะปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 นี้ ตามความต้องการใช้ที่เข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงปลายปี และภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2568 ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น ขณะที่ราคาปิโตรเคมี ในกลุ่มอะโรเมติกส์ กลุ่ม PX ยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง ส่วนกลุ่มโอเลฟินส์ ราคาจะปรับตัวดีขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2568 คาดว่าภาพรวมธุรกิจจะดีขึ้นจากปี 2567 โดยส่วนต่างราคาและผลิตภัณฑ์(เสปรด) คาดว่าจะค่อยๆฟื้นตัว และจะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพิ่ม จากการก่อสร้างโรงงานของ วีนิไทย ที่จะมีผลิตภัณฑ์ PVC ออกมาเพิ่มขึ้น รวมถึง โครงการของ NatureWorks ที่จะขยายกำลังการผลิตแล้วเสร็จ ขณะที่จะมี Feedstock จากอีเทน เข้ามาเพิ่มขึ้นราว 20% หนุนธุรกิจโอเลฟินส์

- Advertisment -

ขณะเดียวกันผลกระทบจากการตั้งด้อยค่าใน 2 บริษัท คือ จากการปรับโครงสร้างธุรกิจของ บริษัท Vencorex France S.A.S.U (“Vencorex France”) และ Vencorex TDI S.A.S.U (“Vencorex TDI”) ซึ่งทั้งสองเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของ PTTGC ที่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส (“Commercial Court in Lyon”) เพื่อขอเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างทางธุรกิจในชั้นศาล ตามกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส และตั้งด้อยค่าจากการประกาศยุติกิจการใน บริษัท PTT Asahi ที่บริษัทถือหุ้น 50% ร่วมกับทางพันธมิตรญี่ปุ่น คือ บริษัท อาซาฮี คาเซอิ คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้นสัดส่วน 50% ซึ่งในปี 2567 นี้ ทั้ง 2 บริษัท ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในปี 2567 ประมาณ 5,000 ล้านบาท แต่ในปี 2568 จะไม่มีผลกระทบในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 ยังมีปัจจัยกดดันจากการใช้กำลังการผลิตที่ยังไม่เต็มที่ เนื่องจากมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นฯ ครั้งใหญ่ตามวงรอบ ประมาณ 50 วันในช่วงไตรมาส 4 คาดว่าจะส่งผลให้กำลังการผลิตหายไปประมาณ 10% จากปกติ เดินเครื่องการผลิต 100% ก็จะเหลือประมาณ 91%

“ปี 2568 คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หลังจากผ่านจุดต่ำสุดในปี 2567 ไปแล้ว แต่จะเป็นการทยอยฟื้นตัว”

ทั้งนี้ บริษัท ยังเน้นย้ำการควบคุมภาระค่าใช้จ่ายในปี 2568 เพื่อสร้างผลกำไรที่ดี และสร้างฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง

Advertisment