PRISM ปตท. ชี้ทิศทางราคาน้ำมัน 2568 ผันผวนหนัก ราคาเฉลี่ย 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

436
- Advertisment-

นักวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันกลุ่ม ปตท. (PRISM) ประเมินทิศทางน้ำมันปี 2568 ผันผวนสูง คาดราคาน้ำมันอยู่ระดับ 70-80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ท่ามกลางความท้าทายด้านกำลังการผลิตที่สูงกว่าความต้องการใช้ถึง 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปตท. ชี้ก๊าซธรรมชาติยังเป็นพลังงานสะอาดที่จำเป็นของไทยต่อไปในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ขณะ ส.อ.ท. ห่วงนโยบาย โดนัลด์ ทรัมป์ กระทบอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด จะเกิดการชะลอตัวการดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย  Carbon Neutrality และ Net Zero ได้

วันที่ 21 พ.ย. 2567 นักวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM) และกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ร่วมกันจัดเสวนาในงาน “2024 The Annual Petroleum Outlook Forum” ครั้งที่ 13 โดยเป็นการเสวนาในหัวข้อ “คิดนำ ล้ำหน้า ขับเคลื่อนอนาคตไทยด้วยพลังงานสะอาด”

สำหรับนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันกลุ่ม ปตท. หรือ PRISM ได้บรรยายทิศทางน้ำมันในปี 2568 โดยใจความสำคัญระบุว่า ในปี 2568 ตลาดน้ำมันจะเกิดความผันผวนมาก จากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ , ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นหลังผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดี, มาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน และมาตรการค่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านที่จะเข้มข้นขึ้น ดังนั้น PRISM คาดว่าราคาน้ำมันโลกในปี 2568 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

- Advertisment -

โดยความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 2568 จะอยู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่กำลังการผลิตจะมีสูงมากประมาณ 2.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมาจากผู้ผลิตนอกกลุ่มประเทศโอเปก ที่มีกำลังการผลิตรวม 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจากประเทศกลุ่มโอเปกพลัสที่พยายามจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2568 ดังนั้นกำลังการผลิตที่มีมากกว่าความต้องการใช้น้ำมันถึง 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน อาจส่งผลให้เกิดปริมาณการผลิตน้ำมันล้นตลาด ซึ่งทาง PRISM เห็นว่า กลุ่มประเทศโอเปกพลัสควรจับตาตลาดน้ำมันอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งทบทวนนโยบายการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันให้สอดคล้องกับตลาด เพื่อรักษาสมดุลราคาน้ำมันโลกต่อไป

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ปตท. ยังต้องปรับตัวสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ก๊าซธรรมชาติยังมีความสำคัญต่อประเทศไทยและยังเป็นพลังงานสะอาดที่จะนำมาใช้ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ควบคู่กับพลังงานสะอาดใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งไฮโดรเจน, ระบบการกักและเก็บคาร์บอน ( CCS)  และพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยด้านพลังงานอื่นๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดด้วย  

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “สถานการณ์โลกเรื่องพลังงาน หลังเลือกตั้ง USA” ว่า นโยบาย “Make America Great Again” ของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ จะส่งผลให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจสูง จากความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าต่างประเทศ รวมทั้งจะเร่งให้เกิดการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้การค้าโลกชะลอตัว และเกิดการย้ายฐานการผลิตจากนโยบาย America First  นอกจากนี้จะเกิดการแบ่งขั้วทางเทคโนโลยีและการค้า จากการกลับมาของสงครามการค้าและเทคโนโลยี (Trade war and Tech war) ระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม

พร้อมกันนี้ต้นทุนสินค้าส่งออกจะเพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ และสินค้าจีนทะลักเข้ามาแข่งขันในตลาดอื่นมากขึ้น ขณะเดียวกันจะเกิดมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดขึ้นกับประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐ รวมทั้งอาจถูกกล่าวหาเป็นฐานการผลิตของจีน และจะทำให้การแก้ไขปัญหาโลกร้อนชะลอตัวออกไป ทำให้เป้าหมาย การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) อาจช้ากว่าที่กำหนดและอาจกลับไปสู่ยุคการแข่งขันด้านต้นทุน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ทั้งนี้นโยบาย USA ด้านพลังงานที่กระทบต่อไทย ได้แก่ 1. นโยบายเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ที่จะทำให้ต้นทุนต่ำลงอยู่ที่ประมาณ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยจะส่งผลกระทบต่อไทยในช่วงสั้นๆ ทำให้ราคาพลังงานมีแนวโน้มลดลงหรือคงที่ ทั้งในตลาดโลกและไทย

2. นโยบายถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ปี ค.ศ. 2015 จะส่งผลต่อไทยด้านบวกคือช่วยลดแรงกดดันต่อธุรกิจส่งออกของไทยในระยะสั้นกับการปรับตัวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนด้านลบคือทิศทางของอุตสาหกรรมที่สนับสนุนด้านการใช้พลังงานสะอาด จะเกิดการชะลอตัวในการดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย  Carbon Neutrality และ Net Zero

3.นโยบายชะลอการดำเนินงานของ Inflation Reduction Act สำหรับการลงทุนด้านพลังงานสะอาด ใช้งบ 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และการชะลอกฎหมาย Clean Competition Act ซึ่งจะส่งผลลบทำให้เกิดการชะตัวในการผลักดันเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของไทย เสียโอกาสต่อการเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

Screenshot

4.นโยบายส่งเสริมปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) และโซลาร์เซลล์ แต่ลดการให้เงินอุดหนุนหรือการให้เครดิตภาษีการลงทุนในส่วนของ พลังงานลม ไฮโดรเจน และ CCS ซึ่งนโยบายนี้จะส่งผลดีกลายเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมไทยในการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ ทดแทนส่วนที่สหรัฐฯ ต้องนำเข้าจากจีน

และ 5.นโยบายเจรจาให้ยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็จะส่งผลดีต่อไทยให้มีซัพพลายพลังงานในตลาดมากขึ้น ทั้งในส่วนของน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปรับตัวลงในระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. ยังคงยืนยันจะเดินหน้าไปสู่พลังงานสะอาด ความยั่งยืน และช่วยลดโลกร้อนต่อไป

Advertisment