PEA ENCOM ยื่น กกพ. ขอเปลี่ยนพื้นที่โรงไฟฟ้าชีวมวล นราธิวาส

2619
- Advertisment-

PEA ENCOM ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ยื่นขอเปลี่ยนพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในจังหวัดนราธิวาส  วงเงินลงทุน700 ล้านบาท ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หลังพื้นที่เดิมติดปัญหาทางกฎหมาย และอาจดำเนินการไม่ทันภายในปี2563 ต้องขอคณะรัฐมนตรีขยายเวลา  ส่วนธุรกิจใหม่รับติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้โรงงาน ยังเดินตามแผนปีละ  20 เมกะวัตต์ ในปี  2562 นี้

นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(PEA ENCOM ) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้(จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) ว่า บริษัทฯ เตรียมขออนุมัติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)เพื่อขอปรับเปลี่ยนพื้นที่สำหรับสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล เฉพาะในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9 เมกะวัตต์​ สำหรับใช้เอง 3 เมกะวัตต์ และขายเข้าระบบ 6 เมกะวัตต์​ เนื่องจากพื้นที่เดิมติดปัญหาด้านกฎหมาย

อย่างไรก็ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2561 กำหนดให้ผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบ(COD)ปี 2563 ดังนั้นหากพื้นที่นราธิวาสไม่สามารถCOD ทันกำหนดเวลาดังกล่าว บริษัทฯต้องรายงาน ครม. เพื่อขอเลื่อนเวลาดังกล่าวออกไป

- Advertisment -

ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ยะลา และปัตตานี ขนาดกำลังผลิตติดตั้งแห่งละ 3 เมกะวัตต์​ ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบโรงไฟฟ้าและจัดทำ “ประมวลหลักการปฏิบัติ (Code Of Practice) หรือ COP ซึ่งคล้ายกับการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2562 และผลิตไฟฟ้าเข้าระบบทันกำหนดในปี 2563

โดยการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ บริษัทฯ ยังร่วมทุนใน 3 บริษัทเช่นเดิม ได้แก่ บริษัท ประชารัฐชีวมวล นราธิวาส จำกัด (จังหวัดนราธิวาส), บริษัท ประชารัฐชีวมวล แม่ลาน จำกัด (จังหวัดปัตตานี) และ บริษัท ประชารัฐชีวมวล บันนังสตา จำกัด (จังหวัดยะลา) ซึ่งตามมติ ครม.บริษัทฯ  จะลงทุนในสัดส่วน 40% ของส่วนทุน และภาคเอกชน วิสาหกิจชุมชน ลงทุนในสัดส่วน 60% ของส่วนทุน (วิสาหกิจชุมชนสามารถเข้ามาถือหุ้นได้ไม่เกิน 10%) ระยะเวลาโครงการ 20 ปี ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ  1.55 พันล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ยะลาและปัตตานี แห่งละประมาณ 300 ล้านบาท รวมกว่า 600 ล้านบาท และที่นราธิวาสกว่า 700 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวไม่ได้สร้างผลกำไรให้บริษัทฯมากนัก เนื่องจากปริมาณการผลิตไฟฟ้าไม่มาก แต่เป็นโครงการที่ทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และรองรับการจัดตั้งโครงการพาคนกลับบ้าน ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และโครงการรองรับมวลชน หมู่บ้านสันติสุข รวมทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการสร้างงาน เพิ่มรายได้ ส่งผลให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ในส่วนของการสร้างรายได้ให้บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าตามแผนงานที่กำหนดไว้ เช่น การดำเนินธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้โรงงานอุตสาหกรรม ให้ได้ 20 เมกะวัตต์ต่อปี เริ่มตั้งแต่ปี 2562   นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างขออนุมัติคณะกรรมการ(บอร์ด)บริษัทฯในเดือนมิ.ย.2562 นี้ เพื่อลงทุนในหลายโครงการ เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลอื่นๆ  การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ และธุรกิจก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าหมายจะส่งผลให้บริษัทฯ ในปี 2563 มีรายได้ขยายตัวมากกว่าปี 2561กว่า 10%

Advertisment