PEA เร่งแก้ไขปัญหาการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้เวลาผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายใน 45 วัน ทั้งการชำระค่าสินไหมทดแทน หรือเข้ามาขอรับอนุญาต มิเช่นนั้นจะดำเนินการฟ้องร้องตามกฏหมายกับทุกราย เผยยอดตัวเลขที่ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนแล้วกว่า 1,467 ล้านบาทและอยู่ระหว่างการเตรียมฟ้องอีกกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท
นายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA ) เปิดเผยว่าตามที่ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ PEA เร่งตรวจสอบและเรียกเก็บค่าพาดสายสื่อสารของหน่วยงานเอกชนและรัฐวิสาหกิจบนเสาไฟฟ้าของ PEA ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดนั้น ทาง PEA ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบกิจการฯ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยหากทาง PEA ตรวจพบกรณีที่มีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง จะมีการเรียกเก็บค่าสินไหมทดแทนจากผู้ประกอบกิจการดังกล่าว พร้อมแจ้งให้ดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้อง หรือในกรณีที่ PEA ไม่สามารถอนุญาตให้พาดสายได้เนื่องจากมีน้ำหนักเกินกว่าสายส่งจำหน่ายจะรองรับได้ ผู้ประกอบกิจการจะต้องทำการรื้อถอนสายสื่อสารออก
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบกิจการที่กระทำการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ไม่ดำเนินการรื้อถอนหรือขออนุญาตให้ถูกต้อง หรือชำระค่าสินไหมทดแทนให้ครบถ้วน PEA จะรวบรวมเอกสาร หลักฐาน เพื่อดำเนินกระบวนการตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดและรื้อถอนสายสื่อสารดังกล่าวออกต่อไป
“ PEA ได้มีการแจ้งไปยังผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่กระทำการพาดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว โดยมีระยะเวลาที่จะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฏหมาย ภายใน 45 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้ง ซึ่งหากยังไม่ดำเนินการตามที่แจ้ง ทาง PEA จะดำเนินการฟ้องร้องตามขั้นตอนในทุกกรณี “นายประสิทธิ์ กล่าว
โดยปัจจุบัน PEA ได้รับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนทั้งที่เกิดจากการชนะคดีความ และผู้ประกอบกิจการฯ มาชำระเองรวมจำนวนกว่า 1,467ล้านบาท และที่อยู่ระหว่างรอการชำระเงินตามคำพิพากษาอีก 64 ล้านบาท ส่วนที่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมดำเนินการทางกฎหมาย ที่จะทยอยยื่นฟ้อง มีอีกประมาณ 13,552 ล้านบาท โดยเป็นปัญหาการพาดสายสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาตที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของการพาดสายสื่อสารทั้งหมด
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคตนั้น นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ในส่วนที่เป็นการพาดสายโดยไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่ใหม่ๆนั้น มีปัญหาลดน้อยลงมากเนื่องจาก ผู้ประกอบกิจการฯได้รับทราบแล้วว่า PEA เอาจริงกับปัญหาดังกล่าว ยังเหลือแต่กรณีพื้นที่เดิมที่มีการพาดสายสื่อสารทั้งที่ได้รับการอนุญาตแล้วและที่ไม่ได้รับอนุญาตซึ่งมีความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ขัดต่อสายตาผู้พบเห็นนั้น PEA ได้มีความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. ในการจัดระเบียบสายสื่อสาร ด้วยการให้รื้อถอนสายสื่อสารเดิมที่ไม่ได้ใช้งานออก และการใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Single Last Mile เพื่อลดจำนวนสายสื่อสารปลายทาง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างชัดเจนในมุมของการใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างคุ้มค่า ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน