PDP2024 ความกังวลต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้า เมื่อรัฐลดสัดส่วนการผลิตของ กฟผ. เหลือ 17%

1470
- Advertisment-

ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับใหม่ หรือเรียกสั้นๆว่า  PDP 2024 ที่ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 4  ครั้ง ช่วงวันที่ 12,13,17,19 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้านต่อร่างดังกล่าว และคำถามที่เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเห็นสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดฮวบลงจาก ใน PDP2018 Rev.1 ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันที่มีอยู่ 29% เหลือเพียง 17% ในแผนใหม่ ก็คือความกังวลต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งยังไม่มีคำอธิบายในรายละเอียดจากกระทรวงพลังงานว่าจะบริหารจัดการอย่างไรเมื่อโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่อยู่ในมือของเอกชน

แม้ในหลักการสำคัญของ PDP2024 ทาง สนพ. จะเขียนเอาไว้ว่าได้เน้นเรื่องความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security) ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) และการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า (Efficiency) แต่เมื่อเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในแผนสูงถึง 51% มากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีสัดส่วนเพียง 41% ในขณะที่ PDP2018 Rev.1 สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนมีอยู่ 36% และเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ที่ 64% ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า พลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะแสงอาทิตย์ ลม นั้นไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ข้อกังวลที่ตามมาคือ แบตเตอรี่ที่ติดตั้งเสริมเข้ามาในระบบ และโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่นั้นเพียงพอที่จะรักษาเสถียรภาพของระบบไว้ได้แค่ไหน และต้นทุนค่าไฟฟ้าจะต่ำอย่างที่รัฐบอกไว้ในเวทีรับฟังความคิดเห็นหรือไม่

ความกังวลต่อมาก็คือ บรรดาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กที่รับซื้อเข้ามาและสร้างความผันผวนต่อระบบและมีปริมาณที่มากขึ้นนั้น จะใช้โรงไฟฟ้าประเภทใดมารักษาเสถียรภาพ หากจะใช้โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมารักษาระบบจะต้องมีความยืดหยุ่นในระดับใดจากการเดินเครื่องขั้นต่ำถึงสูงสุดเพื่อรองรับความผันผวน  ซึ่งเรื่องนี้รัฐก็ยังไม่มีความชัดเจน

- Advertisment -

และความกังวลที่สำคัญอีกอย่างคือ โรงไฟฟ้าหลักที่จะเข้ามาช่วยรักษาระบบ ในช่วงปลายแผนนั้น จะเป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เพียง 17% หรือประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ จึงเกิดคำถามว่า เราจะสามารถพึ่งพาโรงไฟฟ้าเอกชนให้มาทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของระบบได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมีข้อจำกัดทางสัญญาที่ทำกันไว้ว่าจะให้เดินเครื่องหรือหยุดเดินเครื่องได้กี่ครั้งต่อปี หากเกินไปกว่าที่ตกลงก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่จะเป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชน ในขณะที่หากเป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ. จะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้  

คนส่วนใหญ่โดยทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบว่า เรามีบทเรียนครั้งสำคัญ ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ที่เกิดเหตุฟ้าผ่าสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา สปป.ลาว ส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้า 1,300 เมกะวัตต์ ที่ต้องส่งเข้าระบบไฟฟ้าของไทยหายไปทันที ทำให้ความถี่ของระบบไฟฟ้าลดต่ำลงจากมาตรฐานปกติที่ 50 เฮิร์ท แต่ระหว่างที่ระบบตอบสนองความถี่อัตโนมัติกำลังทำงานเพื่อรักษาระบบอยู่นั้น โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 37 ราย ได้ปลดเครื่องผลิตไฟฟ้า ดีดตัวเองออกจากระบบ เพื่อป้องกันโรงไฟฟ้าของตัวเองเอาไว้ก่อนทั้งที่ยังไม่ถึงเกณฑ์ความถี่ของระบบไฟฟ้าขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ส่งผลให้ระบบไฟฟ้าเสียกำลังผลิตไปอีก 2,516 เมกะวัตต์ (เทียบเท่ากับกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ประมาณ 3 โรง) ซึ่งทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน กว่า 30 จังหวัด

การแก้ปัญหาในตอนนั้น ทางศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ ได้สั่งการเพิ่มกำลังผลิตสำรองที่มีอยู่อย่างเร่งด่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โดยสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และเครื่องกังหันก๊าซที่สามารถขนานเข้าระบบได้ภายใน 5-30 นาที เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนลำตะคอง โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าวังน้อย ส่งผลให้สามารถกลับมาจ่ายไฟฟ้าได้ภายใน 50 นาที นับตั้งแต่เกิดเหตุ

อย่าลืมว่า เมื่อความเสียหายที่เกิดจากไฟฟ้าดับ หรือระบบไฟฟ้าไม่มีเสถียรภาพนั้นกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและเศรษฐกิจมากกว่าค่าไฟฟ้าที่แพง โดยแม้ สนพ. จะบอกในเวทีรับฟังความคิดเห็นว่า แผน PDP2024 มีเรื่องดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation หรือ LOLE) ที่ให้เกิดได้ไม่เกิน 0.7 วันต่อปี ทำให้ต้องมีการเพิ่มโรงไฟฟ้าจนมีกำลังการผลิตติดตั้งในระบบช่วงปลายแผนปี 2580 สูงถึง 112,391 เมกะวัตต์ ในขณะที่พีคไฟฟ้าอยู่ที่ 54,546 เมกะวัตต์ เพื่อให้มีเสถียรภาพในระบบ แต่เอาเข้าจริงหากมีกรณีที่ไม่คาดคิดเหมือนปี 2561 เกิดขึ้นในอนาคต แต่โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่เหลืออยู่ 17% ไม่พอที่จะกู้คืนระบบ กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้คิดวางแผนเอาไว้แล้วหรือยังว่าจะทำอย่างไร ? สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ทำกับเอกชนครอบคลุมเรื่องความมั่นคงระบบไฟฟ้า แล้วหรือยัง กรณีเอกชนไม่ทำตามสัญญาจะมีบทปรับอย่างไรหรือไม่ ต้นทุนการดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าตาม LOLE ใครต้องจ่าย ใครได้ประโยชน์? และถามกันจริงๆว่าโรงไฟฟ้าเอกชนตอบโจทย์ความมั่นคงไฟฟ้าได้ดีกว่าโรงไฟฟ้า กฟผ. จริงหรือ?

เหล่านี้ล้วนเป็นข้อกังวลในหลักการสำคัญของ PDP2024 ที่ประชาชนต้องการความชัดเจน

Advertisment