PDP2018 เพิ่มสัดส่วนก๊าซฯสูงถึง53% เน้นLNGนำเข้า เพื่อผลิตไฟฟ้า

1070
- Advertisment-

ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศฉบับใหม่ หรือ PDP2018 กลับมาเน้นการใช้ก๊าซธรรมชาติกว่า53% หรือกว่า34ล้านตันต่อปีเมื่อสิ้นสุดแผนในปี2580 โดยที่LNG จะมีบทบาทสำคัญ   โดยปลัดกระทรวงพลังงานเตรียมปรับปรุงอีก4แผนหลัก ซึ่งประกอบด้วย แผนก๊าซธรรมชาติ ,น้ำมัน,แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และแผนอนุรักษ์พลังงาน   ให้มีความสอดคล้องกัน  พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการ 5 ปี(2561-2566) เพื่อให้เห็นโครงการลงทุนที่ชัดเจน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ หรือ PDP2018 ที่จะประกาศใช้แทนPDP/2015 ว่า  ในร่างPDP2018 มีการปรับเพิ่มปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้มากกว่า 34 ล้านตันต่อปี ในปี2580 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดแผน และจะทำให้สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 53% ซึ่งสูงกว่าแผน PDP 2015 ฉบับปัจจุบันที่ต้องการกระจายเชื้อเพลิง จึงปรับลด การใช้ก๊าซลงให้เหลือเพียง 37% ภายในปี 2579 โดยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)  จะเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่จะปรับลดปริมาณลงจนหมดไปในที่สุด

โดยหลังจากการจัดเวทีประชาพิจารณ์แผนPDP2018เสร็จสิ้น กระทรวงพลังงานจะสรุป และนำเสนอแผนต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ต้นเดือนม.ค. 2562 นี้ จากนั้นก็จะมีการปรับปรุงแผนพลังงานอีก4แผนหลัก ได้แก่ 1.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ 2.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง 3. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และ4.แผนอนุรักษ์พลังงาน   ให้สอดคล้องกับแผนPDP2018 เพื่อเสนอต่อที่ประชุม กพช.ให้ความเห็นชอบต่อไป รวมทั้งการนำแผนทั้งหมดมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2562-2566) ที่จะต้องมีความชัดเจนถึงรายละเอียดโครงการที่จะต้องลงทุน  มีการวัดผลสำเร็จของโครงการ รวมถึงการนำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาใช้ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการดังกล่าวด้วย

- Advertisment -

นายกุลิศ กล่าวว่า โดยภาพรวมสำหรับแผนPDP2018 นั้น จะเพิ่มโรงไฟฟ้ามั่นคงที่เป็นโรงไฟฟ้าซึ่งใช้LNG เป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น เพราะปัจจุบันโลกมีแหล่งจำหน่าย LNG มากขึ้นทั้งสหรัฐฯ รัสเซียและตะวันออกกลาง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนLNGถูกลงในอนาคต   รวมทั้งการส่งเสริมพลังงานทดแทน ที่ต้องทันต่อสถานการณ์มากขึ้น เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) เป็นต้น   ในขณะที่การลงทุนโรงไฟฟ้าแยกพิจารณาเป็นรายภาคตามศักยภาพเชื้อเพลิงที่มีในแต่ละภาคด้วย

ทั้งนี้ PDP2018 จะกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยคงที่ ตั้งแต่ปี 2561-2580 อยู่ที่ 3.576 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าแผนPDP2015 ปัจจุบันที่เฉลี่ยค่าไฟฟ้าไว้ 5.55 บาทต่อหน่วยในช่วงปลายแผนปี 2579  เนื่องจากเชื้อเพลิงที่จะเข้ามาในแผน ฉบับใหม่จะเปิดให้มีการแข่งขันที่ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลง ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีจะประสิทธิภาพมากขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลงด้วย

Advertisment