บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ยืนยันสนับสนุนนโยบายรัฐปรับโครงสร้างราคาพลังงานพร้อมดูแลค่าการตลาดเฉลี่ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม 2 บาทต่อลิตรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้เตรียมพร้อมสำรองน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 รองรับนโยบายขยับมาตรฐานน้ำมันจากยูโร 4 เป็น ยูโร 5 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 เพื่อช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า OR เป็นบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ในประเทศไทย มีส่วนแบ่งการตลาด 43-45% ซึ่งเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศและเป็นผู้ซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นฯ หรือมีหน้าที่ “ซื้อ-รับ-เก็บ และจ่ายน้ำมัน” ให้เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ ดังนั้น OR พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจต่างๆให้สอดรับกับทิศทางนโยบายของรัฐ ซึ่งในโครงสร้างราคาน้ำมัน จะพบว่าประกอบด้วย อัตราจัดเก็บภาษีในสัดส่วน 30% , ต้นทุนเนื้อน้ำมันที่อ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วน 60% และค่าการตลาด มีสัดส่วนเพียง 5-6%
โดยที่ผ่านมา OR ยึดนโยบายรัฐที่ดูแลค่าการตลาดเฉลี่ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมประมาณ 2 บาทต่อลิตร ซึ่งจะเห็นว่าจากผลการดำเนินงานของ OR ในรอบ 9 เดือนของปี 2566 นี้ มีกำไรอยู่ที่ระดับ 10,900 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายอยู่ที่ระดับกว่า 600,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกำไรไม่ถึง 2% เท่านั้น แต่ขณะเดียวกันจะเห็นว่าธุรกิจ Lifestyle มีสัดส่วนกำไรมากถึง 25-30% ซึ่ง OR ยังต้องดำเนินธุรกิจเพื่อรักษาแชมป์ผู้ค้าน้ำมันเบอร์ 1 ไว้ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ พร้อมดูแลผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบ
”ค่าการตลาดที่ได้ประมาณ 2 บาทต่อลิตร จะเป็นในส่วนของดีลเลอร์ ประมาณ 1 บาทต่อลิตร และอีกประมาณ 1 บาทต่อลิตร เป็นค่าบริหารจัดการของ OR และเก็บไว้ลงทุน ซึ่ง OR พร้อมให้ตรวจสอบข้อมูล ไม่บิดเบือน เราเป็นองค์กรที่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐ ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เช่น ผู้ถือหุ้น สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนในหุ้นด้วย“
ทั้งนี้ธุรกิจ Mobility ของ OR มีความหลากหลาย ไม่ได้มีเพียงการขายปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการ พีทีที สเตชั่นเท่านั้น แต่ OR ยังเป็นเบอร์ 1 ทั้งในธุรกิจจำหน่ายน้ำมันเครื่องบิน ,ธุรกิจน้ำมันเดินเรือ, ธุรกิจจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ซึ่งรับเชื้อเพลิงมาจากโรงกลั่นฯ ในกลุ่ม ปตท. , ธุรกิจจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่น ก็มียอดขายเป็นเบอร์ 1 รวมถึงการขายน้ำมันดีเซล ป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าด้วย ทำให้ OR ยังต้องเดินหน้าขยายการเติบโตของธุรกิจต่อไป
ขณะเดียวกันในปี 2567 ทาง OR ยังได้เตรียมพร้อมเก็บสำรองน้ำมันตามมาตรฐานยุโรป ระดับ 5 (ยูโร 5) ที่ภาครัฐกำหนดนโยบายให้น้ำมันที่จำหน่ายในประเทศไทยต้องขยับจากมาตรฐาน ยูโร 4 เป็น ยูโร 5 ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้เนื้อน้ำมันที่จำหน่ายมีปริมาณกำมะถันลดลงมาใกล้เคียงมาตรฐานยุโรป จาก 50 ppm เหลือ10 ppm และโรงกลั่นฯ ในกลุ่ม ปตท. ก็ถือว่า มีสัดส่วนกำลังการผลิตน้ำมันในปริมาณมากของประเทศที่จะได้มีส่วนร่วมดูแลลดปัญหามลพิษลง
นายดิษทัต กล่าวว่า แนวโน้มการดำเนินธุรกิจของ OR ในปี 2567 คาดว่า จะเป็นปีที่ดีของธุรกิจ และยอดขายยังเติบโตสอดรับกับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ( GDP ) โดยตามปกติแล้วยอดขายน้ำมันจะเติบโตสูงกว่า การขยายตัวของ GDP ซึ่งในปี 2566 มีประมาณการว่า GDP จะเติบราว 2.8-2.9% ฉะนั้นยอดขายน้ำมันปี 2566 นี้ ก็น่าจะเติบโต 4% ตามทิศทาง GDP ของประเทศ
นอกจากนี้ในปี 2567 ทาง OR จะมุ่งเน้นเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนเป็นหลัก โดยเฉพาะการบริหารจัดการสต็อกน้ำมันเพื่อรักษาสมดุล ลดปัญหาการขาดทุนของต้นทุนราคาน้ำมัน (Stock Loss) และสร้างผลกำไรของต้นทุนราคาน้ำมัน(Stock Gain) ซึ่งปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยี Dashboard เข้ามาใช้วัดผลกำไรขาดทุนได้แม่นยำและชัดเจนมากขึ้นขณะที่ธุรกิจยางมะตอย ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น ก็เดินหน้าขยายการลงทุน เพิ่มยอดขายเพื่อรักษาแชมป์เบอร์ 1 ไว้ต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้จะเน้นส่งเสริมการเพาะปลูกเมล็ดกาแฟ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และยังเป็นการลดต้นทุนธุรกิจต้นน้ำจากปัจจุบัน OR มีโรงคั่วกาแฟ มีศูนย์กระจายสินค้า ขาดแต่การพัฒนาต้นน้ำ เนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการบริโภคกาแฟ 80,000 ตันต่อปี แต่มีกำลังการผลิตเพียง 20,000 ตันต่อปี ขณะที่ OR มีความต้องการ 6,000 ตันต่อปีจึงถือเป็นโอกาสเพิ่มเม็ดกาแฟ ลดต้นทุนให้ธุรกิจร้าน คาเฟ่ อเมซอน
นอกจากนี้ OR ยังสนใจขยายการลงทุนธุรกิจ Food and Beverage (F&B) โดยมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการอย่างต่อเนื่องโดยหัวใจสำคัญของพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจกับ OR จะต้องเกิดการแลกเปลี่ยนและใช้ผลิตภัณฑ์ของOR เพื่อสร้าง Synergy ร่วมกัน