OCA ไทย-กัมพูชา สัญญาณดี “ ปานปรีย์ ” เน้นเจรจาพัฒนาความร่วมมือด้านปิโตรเลียม ให้ได้ข้อยุติโดยไม่เสียดินแดน

621
- Advertisment-

สัญญาณดี ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area หรือ OCA) เพื่อร่วมกันพัฒนาปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองประเทศ เกิดขึ้นหลังการหารืออย่างเป็นทางการระหว่าง นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย และ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ที่กรุงเทพ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา

การเร่งเจรจาปัญหา OCA ไทย-กัมพูชา เพื่อให้ได้ข้อยุติ ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลเศรษฐา  โดยนับตั้งแต่ที่รัฐบาลไทยมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชา เมื่อปี 2544 หรือ เอ็มโอยู 2544 แล้ว เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เพราะเนื้อหาในเอ็มโอยู ระบุให้ต้องเจรจาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเล ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิล้ำเขตของอีกฝ่าย จนกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนซึ่งกินพื้นที่ กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร  ไปพร้อมกับการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ทะเล ซึ่งประเมินว่ามีศักยภาพสูง ผ่านกลไกของคณะกรรมการเทคนิคและคณะทำงานที่ตั้งขึ้นร่วมกัน 

ความสัมพันธ์ระดับรัฐบาลไทย-กัมพูชาส่งสัญญาญบวก เห็นพ้องกัน 100% เรื่อง OCA

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามในการหารือกันอย่างเป็นทางการระหว่างนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นั้น  ฝ่ายไทยได้หยิบยกเรื่องปัญหาOCA ขึ้นมาเจรจาอีกครั้ง และต่างฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะให้ความสำคัญกับการเจรจาที่ใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งนายเศรษฐาได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศไปหารือก้บหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพลังงาน และ กองทัพเรือ เพื่อดำเนินการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาต่อไป

ขอบคุณภาพจากรายการ THE STANDARD NOW 

ในรายการ THE STANDARD NOW  ที่มี ณัฏฐา โกมลวาทิน เป็นพิธีกร ซึ่งเผยแพร่ในช่วงค่ำของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีสาระสำคัญที่ ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า การพบกันอย่างเป็นทางการของผู้นำรัฐบาลของไทยและกัมพูชา จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเจรจาเรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา ที่จะดำเนินการต่อเนื่องในรายละเอียดหลังจากนี้  ซึ่งฝ่ายไทยจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการทางเทคนิค ขึ้นมาใหม่ เพื่อเจรจากับคณะกรรมการทางเทคนิคของฝั่งกัมพูชา 

โดยประเด็นสำคัญที่ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดี  ที่ชี้ให้เห็นปลายทางของความสำเร็จ จากดร.ปานปรีย์ คือการระบุถึงความต้องการของทั้งสองประเทศที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน  และการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานในระยะยาว ซึ่งจะโฟกัสไปในเรื่องของการร่วมกันพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ มากกว่าการเจรจาเรื่องเส้นแบ่งเขตแดน ที่ต่างฝ่ายต่างไม่พร้อมที่จะเสียดินแดน โดยจะมีหลักการคล้ายแนวทางพัฒนาพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย 

“เราต้องไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันเรื่องดินแดน บรรยากาศการเจรจาของทั้งสองรัฐบาลเป็นไปด้วยดี  ต่างฝ่ายต่างเห็นพ้องกันร้อยเปอร์เซ็นต์ในระดับรัฐบาล แต่ในระดับประชาชน เราต้องไปทำความเข้าใจว่าเราจะดำเนินการโดยที่ไม่เสียดินแดน  เราจะไม่ทำในสิ่งที่เขาต้องเป็นกังวล…. ที่ผ่านมาการเจรจาติดปัญหาในเรื่องดินแดน  ซึ่งต้องให้ความมั่นใจว่า เราจะไม่ยอมเสียดินแดนแม้เพียงหนึ่งตารางนิ้ว   ซึ่งเมื่อได้ข้อยุติในเรื่องแรก เรื่องที่สองจึงจะมาคุยกันเรื่องสัดส่วนในการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกันว่า จะเป็นอย่างไร   แต่ผมไม่มีความกังวล  ต้องทำให้ถูกต้องให้เกิดการยอมรับจากประชาชน  เราไม่มีอะไรแอบแฝง ถ้านายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เราทำ  ” ดร.ปานปรีย์ กล่าวในบางช่วงของการให้สัมภาษณ์ในรายการ 

ดร.ปานปรีย์ ยังระบุถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเร่งเจรจา เพราะแนวโน้มปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองในอ่าวไทยและที่ส่งมาจากเมียนมาที่เริ่มลดลง เพราะถ้าปล่อยให้ยืดเยื้อก็ต้องไปนำเข้าพลังงาน มาทดแทน ซึ่งตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าราคาจะเป็นอย่างไร

หลายภาคส่วนประสานเสียงสนับสนุนเจรจา  OCA ไทย-กัมพูชา ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว 

วรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นำโดย นายวรากร พรหโมบล อธิบดี  นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ รองอธิบดี และนายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ รองอธิบดี ร่วมกันแถลงข่าว เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ถึงความพร้อมในการเตรียมข้อมูลเรื่องOCA สำหรับการเจรจา กับฝ่ายกัมพูชา  โดยรอเพียงการสั่งการจากรัฐบาลเท่านั้น  ซึ่งนายวรากร ยืนยันว่า โมเดลของไทย-มาเลเซียที่ประสบความสำเร็จมาก่อน สามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้ในพื้นที่ OCA ไทย -กัมพูชา ซึ่งจะช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น

นายวรากร กล่าวว่า พื้นที่ OCA ฝั่งไทยได้ให้สิทธิสัมปทานเอกชน ตั้งแต่ปี 2514 และรัฐสั่งให้มีการยุติการสำรวจในปี 2518 เนื่องจากมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับทางฝั่งกัมพูชา แต่ยังคงสิทธิสัมปทานเอาไว้ให้เอกชนรายเดิมจนกว่าการเจรจาจะได้ข้อยุติ 

โดยโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่ทับซ้อนที่เชื่อมั่นว่าจะมีศักยภาพทางปิโตรเลียมสูงเพราะอยู่ในแอ่งปัตตานี เช่นเดียวกับแหล่งเอราวัณซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของไทย

ชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

ด้านนายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า“เชฟรอนชื่นชมวิสัยทัศน์ของท่านนายกรัฐมนตรีทั้งไทยและกัมพูชา เราเชื่อว่าการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กับทั้งสองประเทศได้อย่างยั่งยืน” 

มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

ในขณะที่ นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.กล่าวให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนหน้านี้ ว่า การเจรจาแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชานั้น เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องหาวิธีตกลงกันให้ได้ โดยยังไม่ต้องกำหนดเส้นแบ่งเขตแดน แต่ควรมองหาวิธีที่จะมาพัฒนาร่วมกันได้อย่างไร ทั้งนี้หากทั้งสองประเทศสามารถตกลงร่วมกันได้ ทาง ปตท.สผ. ก็พร้อมจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยหากตกลงกันได้เชื่อว่าการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมจะทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก คาดว่าจะใช้เวลาสำรวจและผลิตก๊าซฯได้ภายใน 5 ปี จากอดีตที่ต้องใช้เวลาประมาณ 9 ปี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับทั้งสองประเทศ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

ส่วนในมุมมองของนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ก็เชื่อเช่นเดียวกันว่าพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา นั้น จะมีศักยภาพด้านปิโตรเลียมมาก หากการเจรจาสำเร็จได้เร็วจะช่วยแก้ปัญหาราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างมาก เพราะการผลิตไฟฟ้าของไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก รวมทั้งจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานได้ในระยะยาว แต่หากการเจรจาใช้เวลานานเกินไป จนมีพลังงานอื่นมาทดแทน เช่น เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ทรัพยากรก๊าซธรรมชาติที่เรามีอยู่อาจจะไม่มีความคุ้มค่าที่จะผลิตขึ้นมาใช้ ก็ได้

หอการค้าไทย หนุนให้เจรจา OCA ไทย-กัมพูชา สำเร็จ หวังสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ 

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่ทับซ้อน OCA หากมีการแสวงหาวิธีที่สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันได้ จนทำให้การพัฒนาแหล่งพลังงานแห่งนี้สำเร็จลงได้ก็จะเป็นประโยชน์ทำให้ทั้งสองประเทศมีต้นทุนการผลิตสินค้าไม่สูง และมีความมั่นคงทางด้านพลังงานด้วย

Advertisment