- Advertisment-

ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงจากความผันผวนของราคา LNG นำเข้า กฟผ. แบกหนี้ 9.5 หมื่นล้าน

ประเด็นค่าไฟฟ้าแพง จนทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องเข้ามาช่วยแบกรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที ตั้งแต่งวดเดือน พ.ค-ส.ค. 2564 เรื่อยมาจนถึงงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2567 เป็นวงเงินสะสมรวม 95,228 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมกับการแบกรับต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติอีก 15,084 ล้านบาท (ส่วนของ ปตท. ประมาณ 12,000 ล้านบาท และ กฟผ. อีกประมาณ 3,000 ล้านบาท) มีปัจจัยสำคัญมาจากต้นทุนราคา LNG นำเข้าที่มีความผันผวนระดับสูงในช่วงปี 2564-2565 เพราะโรงไฟฟ้าหลักของไทยนั้นใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2567-2580 หรือ PDP 2024 ที่จะเป็นแผนฉบับใหม่นั้น เมื่อสิ้นสุดแผน ก๊าซธรรมชาติก็ยังเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 41% ของสัดส่วนเชื้อเพลิงทั้งหมด ดังนั้นในระยะยาว หากไทยไม่สามารถที่จะจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศที่จะมีต้นทุนที่ถูกกว่า LNG นำเข้าได้ ก็เป็นเรื่องยากที่อัตราค่าไฟฟ้าของไทยจะต่ำกว่าที่เป็นอยู่

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ถ่านหิน และพลังงานหมุนเวียน มีข้อจำกัดในการผลิตไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ

- Advertisment -

ในการคำนวณค่าเอฟที งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2567 นั้น ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ใช้ราคา Spot LNG ที่ 13.58 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567 ที่มีราคา 10.38 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้น 31% ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในอ่าวไทย ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ที่ประมาณ 201 บาทต่อล้านบีทียู (คิดที่อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ อยู่ที่ประมาณ 5.7 เหรียญสหรัฐ) หรือถูกกว่า ราคา Spot LNG ช่วงเดียวกันกว่าเท่าตัว ทั้งนี้ ในระยะสั้นภาครัฐอาจจะใช้แนวทางที่จะปลดล็อกปัญหาค่าไฟฟ้า ด้วยการทยอยคืนภาระต้นทุนคงค้างให้ กฟผ. โดยอาศัยจังหวะที่ราคา Spot LNG ที่เกิดขึ้นจริงนั้น ต่ำลงกว่าที่ประมาณการณ์ แต่หากลองย้อนหลังดูเส้นกราฟเปรียบเทียบราคา Spot LNG ที่ทาง สนพ. สรุปไว้ ก็จะเห็นว่าราคา Spot LNG นั้นมีความผันผวนค่อนข้างมาก หากไม่ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้า ก็ไม่มีทางที่จะปลดภาระให้ กฟผ. ได้ และเมื่อหันไปดูโรงไฟฟ้าประเภทอื่นที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้งจากเขื่อนในประเทศ และที่ซื้อจาก สปป.ลาว รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ล้วนมีข้อจำกัดในการผลิตที่จะมาทดแทนการใช้ LNG นำเข้าอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนพลังงานหมุนเวียนอย่าง พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องเสถียรภาพในการจ่ายกระแสไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

สำนักงาน กกพ. มอง OCA ไทย-กัมพูชา เป็นทางออกในการปลดล็อกค่าไฟแพงในระยะยาว

หนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่เห็นว่า การเร่งเจรจาเพื่อนำก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันของไทยกับกัมพูชา (Overlapping Claims Area หรือ OCA) ที่ประเมินว่าน่าจะพบแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพสูง ก็คือสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทตามกฎหมายในการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมกับประชาชน โดย ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ให้เหตุผลว่า ก๊าซธรรมชาติจะยังเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญในการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) จากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดประเภทอื่นๆ ซึ่งหากไทยสามารถที่จะพัฒนาก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ OCA โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีการลงทุนไว้แล้วในอ่าวไทย ก็จะทำให้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้มีต้นทุนที่ถูกกว่าราคา LNG นำเข้า ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ดร. พูลพัฒน์ ย้ำไทม์ไลน์ให้เห็นว่า การเจรจาเรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา หากได้ข้อสรุปวันนี้ ก็ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 10 ปีจึงจะผลิตก๊าซขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายนโยบายจะต้องตัดสินใจ

รัฐมนตรีคลัง หนุนเร่งเจรจา OCA ไทย-กัมพูชา ได้ต้นทุนเชื้อเพลิงราคาถูก ช่วยลดค่าไฟฟ้า เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดให้มีการปาฐกถาพิเศษ “พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในยุคโลกเดือด!” เนื่องในวาระแห่งการสถาปนา 75 ปี คณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในช่วงหนึ่งถึงกรณีที่หากสามารถนำก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา มาใช้ได้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เพราะปริมาณก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่มากพอๆ กับที่ผลิตได้จากแหล่งในอ่าวไทย โดยที่ต้นทุนต่ำกว่า LNG ที่นำเข้า เพราะเจาะหลุมผลิตไม่ลึก การลงทุนไม่สูง ซึ่งสามารถที่จะช่วยให้ค่าไฟลดลงเหลือเพียง 3.25 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ไทยแข่งขันกับคู่แข่งอย่างเวียดนามได้ แต่ต้องเร่งเจรจาให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อีก 20 ปี ที่ตอนนั้นทั่วโลกอาจจะไม่ใช้น้ำมันแล้ว ก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ก็จะไร้ประโยชน์

รัฐบาลเศรษฐา กับกลไกเจรจา OCA ไทย-กัมพูชา ที่ยังไม่เป็นรูปธรรม

สำหรับเรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา นั้น ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลทำงานมาครบ 1 ปี และเดินหน้าฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 74 ปี ที่มีการลงนามความร่วมมือกันด้านต่างๆ เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในเรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา โดยฝ่ายไทยยังไม่ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee – JTC) ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นกลไกในการเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา ตามข้อตกลงที่มีการทำเอ็มโอยูกันไว้เมื่อปี 2544  เลย แม้ว่าจะมีเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะ เสียงจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ระบุถึงประโยชน์ 6 ข้อที่ไทยจะได้รับ ทั้งรายได้จากค่าภาคหลวง การช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าปิโตรเลียม การสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงาน และเสถียรภาพด้านราคาที่จะส่งผลดีต่อราคาพลังงานของผู้บริโภคในประเทศ การสร้างเศรษฐกิจกับอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและกิจกรรมสนับสนุนไปตลอด Value Chain การดึงดูดการลงทุน Direct Investment จากบริษัทพลังงานและอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง และการเพิ่มการจ้างงานที่มีทักษะฝีมือให้กับคนไทยก็ตาม

พื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา มีขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติของไทย เคยมีการประเมินว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่จะสำรวจพบปิโตรเลียม เพราะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่ดังกล่าว อยู่ในแอ่งปัตตานี เช่นเดียวกับแหล่งเอราวัณ ปลาทอง ไพลิน ฟูนัน บรรพต ในอ่าวไทย ที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติในเชิงพาณิชย์มาจนสิ้นสุดอายุสัมปทาน 50 ปี และยังมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติเหลืออยู่

หากรัฐบาลเศรษฐา จริงใจที่จะแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงอย่างยั่งยืนในระยะยาว ก็ไม่มีทางออกอื่นที่จะปลดล็อกปัญหาได้ดีไปกว่าการเร่งเจรจาให้ OCA ไทย-กัมพูชา ได้ข้อยุติอย่างน้อยก็ภายในช่วงรัฐบาลมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

Advertisment