- Advertisment-

ข้อเท็จจริงเรื่องศักยภาพปิโตรเลียมที่ซ่อนอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา หรือ Overlapping Claims Area – OCA ซึ่งมีขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร แม้จะยังไม่มีใครได้เข้าไปทำการสำรวจพื้นที่เลย แต่เมื่ออธิบายด้วยข้อมูลทางธรณีวิทยา พบว่าเป็นพื้นที่ที่จัดอยู่ในแอ่งปัตตานี (Pattani Basin) ซึ่งเป็นแอ่งสะสมตะกอนยุคเทอร์เชียรี่ เช่นเดียวกับ แหล่งเอราวัณ ปลาทอง ไพลิน และบรรพต ที่ผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบอยู่ในปัจจุบัน

ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติของไทย จึงมีความมั่นใจว่า OCA ไทย -กัมพูชา จะมีศักยภาพที่จะสำรวจพบปิโตรเลียม ในปริมาณที่ไม่น้อยไปกว่าที่ผลิตได้จากแหล่งต่างๆ ในอ่าวไทยรวมกัน โดยมีผู้ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจเบื้องต้นเอาไว้เป็นตัวเลขสูงถึง 20 ล้านล้านบาท นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีสายสัมพันธ์อันดี กับ สมเด็จฮุนเซ็น อดีตนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา อดไม่ได้ที่จะพูดถึงเรื่องนี้ในงาน Vision for Thailand 2024 ซึ่งจัดโดยเครือเนชั่น เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลแพทองธาร ควรต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว ก่อนที่ขุมทรัพย์พลังงานจากฟอสซิลที่ไทยและกัมพูชามีอยู่ร่วมกันจะถูกทิ้งไปให้เสียเปล่า ในอีกไม่เกิน 20 ปี ข้างหน้า เพราะคนจะรังเกียจพลังงานจากฟอสซิล และหันไปใช้พลังงานสีเขียว (Green Energy) เพียงอย่างเดียว

เมื่อปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงเหมือนไทยมีแหล่งขุมทรัพย์ที่เหลืออยู่มากพอที่จะมาช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้ในยามวิกฤติ ที่ประชาชนกำลังประสบปัญหาพลังงานราคาแพง เพราะนอกจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ จะช่วยให้ราคาพลังงานถูกลงและมีใช้อย่างไม่ขาดแคลนในระยะยาวแล้ว ยังช่วยให้รัฐมีรายได้จากค่าภาคหลวง ภาษีปิโตรเลียม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนมากขึ้นด้วย แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องการคำตอบจากรัฐบาลแพทองธารคือ นับจากนี้ไปเราจะใช้เวลานานแค่ไหนจึงจะสามารถนำก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่มาใช้ประโยชน์ได้  

- Advertisment -

เพราะดูเหมือนว่า สิ่งที่เคยเป็นข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างไทยกับกัมพูชา ภายใต้เอ็มโอยู 2544 ที่มีสาระสำคัญ คือ ให้มีการกำหนดพื้นที่ที่จะมีการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน และการกำหนดพื้นที่ที่จะมีการแบ่งเขตแดนให้ชัดเจน จะต้องดำเนินการทำข้อตกลงรวมไปด้วยกันไม่สามารถแบ่งแยกได้ (Indivisible package) โดยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee-JTC) ไทย-กัมพูชา เป็นกลไกในการเจรจานั้น ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชี้ให้เห็นว่าจะนำไปสู่การได้ข้อยุติโดยเร็วได้

อย่างไรก็ตามภายใต้รัฐบาลแพทองธาร ที่จะเริ่มต้นทำงานหลังการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 12-13 กันยายน 2567 นี้ ก็ได้เห็นว่ามีสัญญาณที่เป็นบวกใน เรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา โดยมีการเขียนระบุเรื่องการสำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานเป็นนโยบายเร่งด่วนในข้อที่ 3 จากนโยบายเร่งด่วนทั้งหมด 10 ข้อ

ในขณะที่ประเด็นซึ่งอาจจะเป็นข้อกังวลว่าจะเป็นอุปสรรคก่อนหน้านี้ ที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน จากพรรคพลังประชารัฐ ยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกระทรวงการต่างประเทศ นำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ. 2001 (MOU 2544) ซึ่งทำขึ้นโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ มติของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

สำหรับแนวทางที่จะเร่งรัดเรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา ให้ได้ข้อยุติโดยเร็วนั้น คีย์เวิร์ด สำคัญที่ ดร.ทักษิณ พูดแสดงวิสัยทัศน์วันนั้น ชี้ทางออกเรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา ไว้ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องของการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนว่าฝ่ายใดควรจะได้แบ่งพื้นที่คนละเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องของการแบ่งทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีอยู่ระหว่างกัน ซึ่ง ดร.ทักษิณ มองว่าควรจะต้องแบ่งฝั่งละ 50% ในขณะที่ยังมองไปด้วยว่าประชาชนคนไทยควรจะได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ด้วย โดยมีการศึกษาแนวทางของประเทศนอร์เวย์ เป็นต้นแบบ และจะต้องเร่งทำให้เร็ว ก่อนที่ทรัพยากรจะสูญเปล่าเพราะคนเลิกใช้

นอกจากนี้ยังมีสัญญาณที่เป็นบวกจากฝั่งของผู้ลงทุน โดย ซีอีโอ ปตท. ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ได้ผนวกเรื่องของ OCA ไทย-กัมพูชา ไว้ในแผนกลยุทธ์ขององค์กร โดยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและช่วยเหลือรัฐบาลอย่างเต็มที่ โดยมองว่าปิโตรเลียมจากพื้นที่ดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติ ที่ผลิตได้จะเป็นวัตถุดิบของธุรกิจปิโตรเคมี และ ปตท.

ส่วน มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ซีอีโอ ปตท.สผ. มองว่า หากรัฐบาลไทยและกัมพูชาตกลงกันได้ และเปิดให้สำรวจและพัฒนา คาดว่าจะนำก๊าซ ขึ้นมาได้ (First Gas) ภายใน 5 ปี ซึ่งเร็วกว่าในอดีตที่ต้องใช้เวลาในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) นานถึง 9 ปี เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้การสำรวจและผลิตทำได้รวดเร็วขึ้น

ในขณะที่ ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการกำกับดูแลค่าไฟฟ้า เคยให้สัมภาษณ์สร้างความมั่นใจว่า ก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา หากสามารถผลิตขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ ในช่วงเวลาที่โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในอ่าวไทยยังพร้อมรองรับ จะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้อย่างมาก ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกกว่า LNG นำเข้า จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยถูกลงได้ในระยะยาว เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังมีเสียงสนับสนุนจากภาคเอกชนทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย ที่มองเห็นประโยชน์จากการนำปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา มาใช้โดยเร็วเช่นเดียวกัน โดยเห็นว่าจะช่วยให้ต้นทุนราคาพลังงานถูกลงได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้อีกด้วย

จึงต้องติดตามดูว่าหลังการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จะกดปุ่มเดินหน้าเรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา ให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร โดยรูปธรรมลำดับแรกที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจริงจังกับเรื่องนี้ คือการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ฝั่งไทย เพื่อเป็นกลไกในการเจรจาอย่างเป็นทางการกับฝั่งของกัมพูชา โดยเร็วที่สุด

Advertisment