OCA ไทย-กัมพูชา เร็วหรือช้า อยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอทำเอ็มโอยูใหม่

2270
- Advertisment-

สถานการณ์​ราคาพลังงานที่ขยับขึ้นสูงในปี 2565 และมีแนวโน้มจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 ทำให้เริ่มมีคนพูดถึงทางออกในการแก้ไขปัญหา​ระยะยาวด้วยการเร่งรัฐบาลเจรจาเรื่องเขตพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (Overlapping Claimed Area: OCA) ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว

ใครที่ติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้ในสื่อหลักจะพบว่ามีความเห็นที่สอดคล้องตรงกันในฝั่งของกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่ สุพัฒนพงษ์​ พันธ์​มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี​ และรัฐมนตรีว่าการ​กระทรวง​พลังงาน , สารัชถ์ รัตนาวะดี ซีอีโอ กัลฟ์ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน , เกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)​ และ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียม​แห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ที่มองเห็นความสำคัญและประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม​ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งประเมินเบื้องต้นว่าจะมีปริมาณสำรองก๊าซจำนวนมาก และจะช่วยประเทศลดการพึ่งพาการนำเข้าแอลเอ็นจี ที่มีราคาแพงกว่าลงไปได้อย่างมาก

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียม​แห่งประเทศไทย ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา​ ลงในหนังสือพิมพ์ฐา​นเศรษฐ​กิจ​

โดยเฉพาะ ดร.คุรุจิต นั้นเขียนบทความลงใน “ฐานเศรษฐกิจ” หลายตอนต่อเนื่อง ที่น่าสนใจคือมุมมอง เรื่อง พื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา กับความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์พลังงาน ที่สรุปสาระสำคัญว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งพลังงานเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซ เพราะ ณ วันนี้ ไทย เป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งทุกๆ ลูกบาศก์ฟุตหรือทุกๆ ตันของก๊าซ LNG ที่นำเข้า ประเทศต้องเสียเงินตราต่างประเทศออกไปซื้อมา โดยประเทศต้นทางที่ผลิตและขายก๊าซให้ คือผู้ที่ได้ประโยชน์ ดังนั้นพื้นที่ OCA จึงเป็นทั้งโอกาสและความจำเป็นที่ไทยควรเร่งเจรจาหาข้อยุติกับกัมพูชา เพื่อให้เกิดการแสวงหาและพัฒนาทรัพยากรก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้อย่างต่อเนื่องได้อีกในราคาที่เหมาะสม

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่าบทบาทนำในการเจรจาเรื่อง OCA ไทย -​กัมพูชา​นั้น อยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ​ ไม่ใช่กระทรวงพลังงาน ซึ่งเมื่อย้อนไปเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2544 ที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจในเรื่องนี้ มีสาระสำคัญ คือให้ทั้ง 2 ฝ่ายเร่งเจรจาเพื่อบรรลุความตกลงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อน โดยแบ่งพื้นที่ เป็น 2 ส่วน คือ
1)​ พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจนตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศ ที่ใช้บังคับ

2)​พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา ให้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวร่วมกันโดยให้ดำเนินการทั้ง 2 ส่วนไปพร้อมกันโดยไม่อาจแบ่งแยกได้และให้ตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย -​กัมพูชา​ เป็นกรรมการเจรจาเพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์​

โดยเวลาที่ล่วงเลยไปกว่า 21 ปีนั้นพบว่าประเด็นปัญหาหลักอยู่ที่ การเจรจาเรื่องแบ่งเขตแดนทางทะเลอย่างชัดเจนตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะได้ข้อยุติ และเมื่อในเอ็มโอยูบอกว่าจะต้องเจรจาไปพร้อมกันกับการพัฒนาพื้นที่ร่วมหรือ Joint Development Area -​JDA ก็เลยทำให้การเจรจาทั้ง 2 เรื่องต่างก็ล่าช้าไปพร้อมกันด้วย

แหล่งข่าวระบุว่า ทั้งไทยและกัมพูชา ต่างต้องการนำทรัพยากรปิโตรเลียมจากพื้นที่OCA มาใช้ แก้ปัญหาราคาพลังงานที่แพง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้นวิธีที่จะให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว คือรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศต้องยกเลิกเอ็มโอยู ปี 2544 และจัดทำเอ็มโอยูกันใหม่ ที่โฟกัสเฉพาะพื้นที่JDA เท่านั้น ส่วนพื้นที่ซึ่งต้องการจะแบ่งเขตแดนให้ชัดเจนนั้นค่อยใช้เวลาเจรจากันไปจนกว่าจะได้ข้อยุติ

ข้อเสนอดังกล่าวจึงเป็นบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ ที่จะทำเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรี​ในฐานะผู้นำของรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจสั่งการลงมา

สอดคล้องกับบทความล่าสุดของ ดร.คุรุจิต ที่เขียนลงใน ฐานเศรษฐ​กิจ ฉบับ วันที่ 13-15 ต.ค. 65 ที่บอกว่าสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่ออดีตและ ทั้งไทย กับกัมพูชาต่างก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจและพลังงาน ซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้นำที่มีมากขึ้น ดร.คุรุจิต จึงแสดงความเห็นว่า รัฐบาลไทย ควรตั้งทีมเจรจาที่นำโดยข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กรอบอำนาจหน้าที่และชั้นความลับในการเจรจา โดยคำนึงถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ การมีสัมพันธ์ที่ดีและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประเทศเพื่อนบ้าน และการได้ประโยชน์ร่วมกันจากแหล่งพลังงาน และพยายามหาทางออกมาเสนอต่อรัฐบาลทั้งสองประเทศที่จะเป็น Win Win Solution สำหรับทุกฝ่าย

ก่อนหน้านี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน ระบุว่า หากเจรจาตกลงกันได้วันนี้ อีก 10 ปี จึงจะนำก๊าซจาก OCA ขึ้นมาใช้ได้

ดังนั้นถ้ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์​ ไม่รีบตัดสินใจดำเนินการที่จะทำบันทึกข้อตกลงกันใหม่ระหว่างรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ก่อนครบวาระที่ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งเอาไว้แล้วในเดือน พ.ค. 66 ก็จะเป็นการทิ้งโอกาสที่จะสร้างผลงานชิ้นสำคัญที่สุด ของรัฐบาลให้หลุดมือไป และปล่อยให้รัฐบาลใหม่ได้สร้างผลงานแทน เพราะคนในวงการพลังงาน นั้นรู้ดีว่า หากประเทศไทยต้องการแก้วิกฤตพลังงานให้ได้อย่างยั่งยืน เรื่องOCA ไทย-กัมพูชา จะเป็นทางออกที่ชัดเจนที่สุดซึ่งจะช่วยพลิกฟื้น​เศรษฐกิจ​และทำให้ประชาชนมีแหล่งพลังงานราคาถูกลงใช้ในอนาคต

Advertisment