ที่ผ่านมาสถานการณ์ในด้านพลังงานก็มีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าไฟ หรือว่าเรื่องอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศที่ไม่เป็นไปตามเป้า โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งมีภารกิจหลักในด้านการกำกับดูแล การสำรวจ และผลิตปิโตรเลียม ก็ได้พยายามหาแนวทางที่จะลดผลกระทบนี้อย่างเต็มความสามารถ
ต้องย้อนดูที่มาที่ไปในช่วงต้นปี 2565 ซึ่งขณะนั้น อัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยลดลงต่ำกว่าเดิมมาก โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ (แปลง G1/61) ที่เคยผลิตได้ถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน กลับมีกำลังการผลิตลดน้อยลงในช่วงของการเปลี่ยนผู้ดำเนินงาน
ในเวลาต่อมา สถานการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณ ก็ค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น โดยในปี 2566 นี้ สามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง จนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สามารถผลิตได้ในปริมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เคยผลิตได้ตามปกติ และมีแผนที่จะเพิ่มอัตราการผลิตให้ได้ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในเดือนธันวาคม 2566 และจะสามารถผลิตได้ที่อัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในเดือนเมษายน 2567 ซึ่งเป็นไทม์ไลน์ที่วางไว้ก่อนจะเกิดเรื่องไม่คาดคิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซของแหล่งเอราวัณ
ทั้งนี้ กระบวนการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาตินั้น จำเป็นจะต้องมีการเจาะหลุมผลิตและติดตั้งแท่นบนหลุมผลิต ซึ่งเรื่องไม่คาดคิดก็คือ เรือที่ใช้สำหรับยกแท่นเหล็กเพื่อติดตั้งบนหลุมผลิต เกิดรอยร้าวในจุดสำคัญที่กลไกการยก ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจเกิดอุบัติเหตุ และอาจเกิดความเสียหาย เกิดความสูญเสียตามมา จึงจำเป็นต้องมีการจัดหาเรือลำใหม่เข้ามาใช้ในการยกแท่นและติดตั้งแท่น ซึ่งแม้ว่าจะได้เรือลำใหม่มาแล้ว แต่กระบวนการและขั้นตอนในการปฏิบัติงานก็ต้องล่าช้าออกไปมากกว่า 2 เดือน จึงทำให้แหล่งก๊าซเอราวัณไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไปเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนธันวาคม 2566 ตามแผนที่เคยวางไว้ได้
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงได้บริหารจัดการ เรื่องการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจากแหล่งที่มีศักยภาพในประเทศไทย เพื่อทดแทนอัตราการผลิตที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1. เพิ่มกำลังผลิตในแหล่งจี 2/61 หรือแหล่งบงกช อีก 130 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 2. เพิ่มกำลังผลิตก๊าซจากแหล่งอาทิตย์อีก 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเมื่อรวมอัตราการผลิตดังกล่าว ก็จะได้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียง 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันที่แหล่งเอราวัณยังไม่สามารถผลิตเพิ่มได้ และหากสามารถรักษาระดับการผลิตก๊าซเพิ่มเติมไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยมิให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว และจะช่วยมิให้ต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นได้
นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังได้ประสานงานกับแหล่งก๊าซยาดานา ในประเทศเมียนมา ให้รักษากำลังผลิตที่ 350 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันให้นานที่สุด และเลื่อนแผนลดกำลังการผลิตในช่วงเวลานี้ออกไปก่อน รวมทั้งประสานงานการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทยกับมาเลเซีย หรือ โครงการเจดีเอ เพื่อขอใช้ก๊าซในช่วงที่มาเลเซียมีความต้องการใช้ไม่มาก เพื่อให้ประเทศไทยมีปริมาณก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น
เป็นอันว่า แม้แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณต้องเลื่อนระยะเวลาในการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซออกไป แต่ประเทศไทย คนไทย จะมีก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม หรือทดแทนจากหลายแหล่ง สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและพยายามของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในการบริหารจัดการสถานการณ์เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นสำคัญ