LNGล็อต2 กฟผ.เทียบท่ามาบตาพุดแล้ว คาดช่วยลดค่าไฟฟ้าได้500ล้าน

633
- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว( LNG )แบบ Spot ลำเรือที่ 2 ปริมาณ 65,000 ตัน เพื่อทดสอบระบบการแข่งขันเสรีก๊าซฯ พร้อมนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงกับโรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5, โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และ โรงไฟฟ้า พระนครใต้ ชุดที่ 4 ชี้การนำเข้า LNG รวม 2 ลำ ช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงไฟฟ้า ได้ 0.42 สตางค์ต่อหน่วย หรือ 500 ล้านบาท พร้อมเผยบอร์ด กฟผ.ที่ผ่านมาอนุมัติการจัดหา LNG ระยะเวลา 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2563 – 2565) แบบ Spot ตามความต้องการใช้ก๊าซฯของ กฟผ. ในส่วนที่เกินจากสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระหว่าง ปตท. และ กฟผ. ตั้งแต่ 24 ม.ค. 2563 เตรียมเสนอ กบง.และกพช.ต่อไป

นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 กฟผ. นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas : LNG) แบบตลาดจร (Spot)  จำนวน 65,000 ตัน ลำเรือที่ 2 จาก บริษัท PETRONAS LNG โดยเรือ Seri Angkasa ได้เดินทางมาถึงท่าเทียบเรือ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTT LNG) อ.มาบตาพุด จ.ระยอง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง LNG ล็อตนี้ กฟผ. จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าผ่านสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติของ PTT LNG และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. (PTT TSO) ส่งไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5, โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และ โรงไฟฟ้า พระนครใต้ ชุดที่ 4 โดยมีระยะเวลาการใช้ LNG ประมาณ 13 วัน คือระหว่างวันที่ 22 เม.ย. – 4 พ.ค. 2563 เพื่อผลิตไฟฟ้าเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศ

อย่างไรก็ตามเมื่อใช้ก๊าซ LNG ล็อตนี้แล้วเสร็จ กฟผ. จะรายงานผลการทดสอบ “การเปิดให้บุคคลที่สามเข้าใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานี LNG หรือ Third Party Access (TPA)” ไปยัง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อไป

- Advertisment -

ทั้งนี้คาดว่าการจัดหา LNG ของ กฟผ. ทั้ง 2 ลำเรือ จะส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง (Ft) ลดลงจากเดิมที่เคยประมาณการไว้เมื่อปลายปี 2562 ที่ 0.21 สตางค์ต่อหน่วย เป็นลดลง 0.42 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท

สำหรับแผนการจัดหา LNG กฟผ. ระยะเวลา 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2563 – 2565) เป็นการนำเข้า LNG แบบ Spot ตามปริมาณความต้องการก๊าซธรรมชาติของ กฟผ. ในส่วนที่เกินจากปริมาณตามข้อผูกพันในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระหว่าง ปตท. และ กฟผ. ซึ่งการนำเข้า LNG ดังกล่าวยังเป็นการตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐที่เร่งให้นำเข้า LNG ในช่วงที่สถานการณ์ LNG ในตลาดโลกมีปริมาณมากกว่าความต้องการ (Over Supply) และมีราคาถูก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และเกิดการแข่งขันเสรีในธุรกิจนำเข้า LNG ในอนาคต

ทั้งนี้แผนนำเข้าดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กฟผ. แล้วเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2563 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

 

Advertisment