IRPC มีรายได้สุทธิกว่า 148,710 ล้านบาท ในงวดครึ่งแรกของปี 67 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับงวดครึ่งแรกของปี 66 จากราคาขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมทั้งมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันถึง 2,138 ล้านบาท ทำให้ EBITDA อยู่ที่ 6,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 187 ดันกำไรสุทธิมาอยู่ที่ 812 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขายน้ำมันอากาศยาน Jet A1 มาตรฐาน JIG รองรับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเติบโต
นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2567 ว่า IRPC ประสบความสำเร็จในการขยายตลาดน้ำมัน Jet A1 คุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล JIG (Joint Inspection Group) ไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสามารถในการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้บริษัทฯ
สำหรับความก้าวหน้าของธุรกิจปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก พีพี (Polypropylene) “POLIMAXX” 4 เกรด ได้แก่ K4510B K4520UB, K4527B และ 1140VC ได้รับการรับรองฉลากรักษ์สิ่งแวดล้อม UL Environmental Claim Validation (ECV) label จาก Underwriter Laboratories หรือ UL ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นรายแรกของประเทศไทย แสดงถึงความมุ่งมั่นในการใช้เทคโนโลยีพัฒนาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก ที่มีประสิทธิภาพและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
IRPC ได้ขยายการลงทุนในบริษัทนวัตกรรมด้านวัสดุขั้นสูง (Advance Materials) บริษัท คลีนเทค แอนด์ บียอนด์ จำกัด (Cleantech & Beyond) ที่เป็นการลงทุนโดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญา หรือ IP (Intellectual Property) ของ IRPC ที่เกิดจากงานวิจัยที่ร่วมทำงานกับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ในบริษัท Startup สร้างการเติบโต ในระยะยาวและตอบโจทย์เมกะเทรนด์ ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Step up & beyond ของบริษัทฯ
นอกจากนี้ IRPC ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสัญญาอนุพันธ์ทางการเงิน Sustainability-Linked Forward Contracts ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นนวัตกรรมสัญญาอนุพันธ์ทางการเงิน ที่มีต้นทุนอ้างอิงกับผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (ESG) ที่เชื่อมโยงการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ
นายกฤษณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ตลาดน้ำมันช่วงไตรมาส 3/2567 “คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันโดยรวมจะเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการผลิตน้ำมันเบนซินในช่วง Driving Season และความต้องการน้ำมันเตา เพื่อผลิตไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งในหลายประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความไม่แน่นอน ในตลาดน้ำมันดิบ”
สำหรับตลาดปิโตรเคมีช่วงไตรมาส 3/2567 กำลังการผลิตใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี กดดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโอเลฟินส์ปรับตัวลดลง ขณะที่ความต้องการกลุ่มสไตรีนิกส์โดยเฉพาะ ABS มีแนวโน้มฟื้นตัว ดีขึ้นช่วงปลายไตรมาสนี้ เนื่องจากเข้าสู่ช่วง Manufacturing Season ของธุรกิจปิโตรเคมี