IRPC เผยน้ำมันร่วง ฉุดรายได้ครึ่งปี 62 ลด 11% อยู่ที่ 1.11 แสนล้านบาท

1315
- Advertisment-

IRPC เผยครึ่งปีแรก 2562 รายได้ลดจากปีก่อน 11% อยู่ที่ 1.11 แสนล้านบาท เหตุราคาขายเฉลี่ยลดลงตามน้ำมันโลก คาดไตรมาส 3 ตลาดน้ำมันดิบเคลื่อนไหวในกรอบ 60 – 67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หลังโอเปกขยายเวลาลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีก 9 เดือน และสถานการณ์ตึงเครียดบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ พร้อมออกมาตรการรับมือความผันผวนเศรษฐกิจโลก

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยถึงผลประกอบการช่วงครึ่งแรกของปี 2562 มีรายได้จากการขายสุทธิ จำนวน 111,976 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สาเหตุหลักเกิดจากราคาขายเฉลี่ยลดลงตามราคาน้ำมันดิบ โดยอัตราการกลั่นน้ำมันอยู่ที่ 203,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 8,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากโรงงาน RDCC หยุดผลิตเป็นเวลา 28 วัน ในช่วงไตรมาส 1 และมี Market GIM จำนวน 10,387 ล้านบาท (8.90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล) ลดลงร้อยละ 39 เนื่องจากส่วนต่างราคาปิโตรเลียมและปิโตรเคมีปรับตัวลดลงอย่างมาก จากผลกระทบหลายปัจจัย ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน การเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตใหม่ในภูมิภาค และอัตราการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ IRPC ได้ออกมาตรการเพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก และบริหารสภาพคล่องของธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เหมาะสม โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 62 มีเงินสดคงเหลืออยู่ที่ 1,915 ล้านบาท และมีงบลงทุนที่มีแผนการดำเนินงานชัดเจน (committed) 71,043 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน โครงการ E4E หรือ EVEREST Forever ซึ่งดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการ EVEREST

- Advertisment -

รวมทั้งเดินหน้าด้านการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก HDPE (High Density Polyethylene: โพลีเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง) เกรดพิเศษ P301GR มีคุณสมบัติการใช้งานที่โดดเด่นเหมาะสำหรับการผลิตทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ ที่ช่วยลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลล์ ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้า มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนของประเทศ โดย IRPC มองถึงการต่อยอดในโครงการโซลาร์ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018)

นอกจากนี้ ยังเพิ่มทางเลือกในการใช้วัตถุดิบในการผลิตน้ำมัน โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับคู่ค้า ด้วยการใช้น้ำมันจากขยะพลาสติกแปรรูป 300,000 – 400,000 ลิตรต่อเดือน ที่ผ่านเทคโนโลยีทันสมัย “ไพโรไลซิส” ได้น้ำมันดิบที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ลดปริมาณขยะได้ 560 ตันต่อเดือน ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจให้เป็นไปตามแผน พร้อมตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดรับนโยบายรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน

สำหรับแนวโน้มภาวะตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 3/62 คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 60 – 67 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากการขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกออกไปอีก 9 เดือน โดยจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 63 และสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ รวมถึงช่วงฤดูเฮอริเคนในสหรัฐฯ ที่อาจทำให้การผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตในอ่าวเม็กซิโกลดลง

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบจากกำลังการผลิตของสหรัฐฯ และการส่งออกน้ำมันดิบที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากโครงการท่อขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตเพอร์เมียนไปยังอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นท่าส่งออกน้ำมันดิบหลักของประเทศ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

ขณะที่แนวโน้มตลาดปิโตรเคมีในไตรมาส 3 ปีนี้ คาดว่าความต้องการเม็ดพลาสติกจะปรับตัวสูงขึ้นจากการยุติการเพิ่มมาตรการทางภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หลังการประชุม G20 ในวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้ ประกอบกับโรงกลั่นและปิโตรเคมีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ในเท็กซัสเกิดไฟไหม้ซึ่งกระทบการผลิตผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์โดยตรง รวมถึงการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อลดผลกระทบของการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และภายในประเทศจีนเองก็มีการปรับตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เช่น การลดภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ผลิตจากร้อยละ 16 เหลือร้อยละ 13 และการเพิ่มงบประมาณรายจ่าย เป็นต้น ขณะที่ความต้องการผลิตภัณฑ์ลดลงในช่วงฤดูฝน รวมถึงกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ในประเทศมาเลเซียที่จะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในช่วงปลายปี และประเด็นการเพิ่มมาตรการทางภาษีหลังจากสหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนยังไม่ได้ซื้อสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นตามที่สัญญาเป็นปัจจัยกดดันราคาผลิตภัณฑ์

Advertisment