IRPC เตรียมเปิดตัวอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม “ซื้อขายเม็ดพลาสติก” รายแรกของไทย 

1242
- Advertisment-

IRPC ทุ่มงบประมาณ 700 ล้านบาท สร้างศูนย์นวัตกรรมรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกรดพิเศษ ซึ่งใช้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ เพื่อต่อยอดในโครงการโซลาร์ลอยน้ำของ กฟผ. ตามแผน PDP2018 พร้อมกับร่วมลงทุนจีนขยายสู่ธุรกิจซื้อขายเม็ดพลาสติกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ PLASTKET.COM รายแรกของไทย เตรียมเปิดตัวเดือนกันยายน 2562 และตั้งเป้าขยายสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2563 

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า IRPC ได้ขยายการลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ บนแพลตฟอร์ม “พลาสเก็ตดอทคอม (PLASTKET.COM) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง IRPC และบริษัท Guangzhao Saiju Performance Polymer Ltd. (GZSJ) จากประเทศจีน โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรวมถึง SMEs ผู้ขาย และผู้ซื้อ ผลิตภัณฑ์พลาสติกทั่วประเทศสามารถซื้อขายเม็ดพลาสติกผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว ไม่จำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์ของ IRPC และในกลุ่ม ปตท. เท่านั้น เพื่อสร้างการเติบโตไปด้วยกัน โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนกันยายน 2562 พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะขยายไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 2563 และสามารถเข้าถึงจำนวนลูกค้าพลาสติก SMEs ร้อยละ 60 และแชร์ส่วนแบ่งการตลาด ร้อยละ 8 หรือคิดเป็นเม็ดพลาสติกจำนวน 400,000 ตัน ของการบริโภคพลาสติกในประเทศไทย ในปี 2566

“เราตั้งใจที่จะให้แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็น One Stop Service ที่มีการซื้อขายเม็ดพลาสติกที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการลงทุนตามแผนงาน IRPC 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ GDP ที่ต้องการผลักดันให้ IRPC เป็น Petrochemical Complex ชั้นนำทางด้าน Digital และนับเป็นอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มซื้อขายเม็ดพลาสติกรายแรกในประเทศไทย” นายนพดล กล่าว

- Advertisment -

นอกจากนี้ IRPC ยังมีแผนเพิ่มสัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ เป็นร้อยละ 55 ภายในสิ้นปี 62 จากปัจจุบันร้อยละ 52 และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 60 ในปีหน้า ช่วยเพิ่มมาร์จิ้นให้กับสินค้าของบริษัท ล่าสุดได้ทุ่มงบประมาณ 700 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์นวัตกรรมที่จะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ เพื่อรองรับการพัฒนาสินค้าเกรดพิเศษ ขณะนี้มี 2 ผลิตภัณฑ์ที่นำออกสู่ตลาดแล้ว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พีพี คอมปาวด์เกรดพิเศษ (PP Compound) นำมาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งภายในและภายนอกรถยนต์รุ่น FOMM ONE ของบริษัท FOMM Corporation ผู้ออกแบบยานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้ร้อยละ 90 เป็นผลิตภัณฑ์ PP Compound ของบริษัท

 

และผลิตภัณฑ์ HDPE Specialty (High Density Polyethylene) เกรดพิเศษ ที่ออกแบบให้เนื้อพลาสติกเป็นสีเทาใช้เป็นทุ่นโซลาร์ลอยน้ำที่ช่วยลดอุณหภูมิใต้แผง ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น โครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนของประเทศ โดยบริษัทมองถึงการต่อยอดในโครงการโซลาร์ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) โดยปัจจุบัน ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโครงการโซลาร์ลอยน้ำ 12.5 เมกะวัตต์ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จ.ระยอง มูลค่า 550 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 63 และขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลโครงการโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธรของ กฟผ. เข้ามาเจรจาขอราคาผลิตภัณฑ์ HDPE กับบริษัทจำนวนมาก จึงมีโอกาสต่อยอดในโครงการโซลาร์ลอยน้ำของ กฟผ. ได้ในอนาคต

ขณะเดียวกัน IRPC ยังมุ่งการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ High Value Added Products (HVA) ควบคู่กัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน รวมถึงขยายส่วนแบ่งผลิตภัณฑ์ในตลาดอาเซียนให้มากขึ้น โดยศูนย์นวัตกรรมฯ มีโครงการวิจัยประมาณ 60 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากำไรส่วนเพิ่มประมาณ 940 ล้านบาท รวมทั้งให้ความสำคัญในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนสร้าง New S-curve ที่มีความสามารถในการเติบโตต่อไปในอนาคตสูง

และการบริหารจัดการกระบวนการผลิต เพื่อขจัดการสูญเสีย (Zero Waste) โดยสามารถนำ Waste Polymer กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ กล่องนาฬิกาแบรนด์เนม และกล่องจิวเวลรี่ เป็นต้น ตลอดจนการขยายความร่วมมือกับลูกค้า น้ำมันจากขยะพลาสติกแปรรูป 300,000 – 400,000 ลิตรต่อเดือน ที่ผ่านเทคโนโลยีทันสมัย “ไพโรไลซิส” ได้น้ำมันดิบที่มีคุณภาพมาตรฐาน ลดปริมาณขยะได้ 560 ตันต่อเดือน

“ผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มที่ออกสู่ตลาดของ IRPC ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ผลักดันให้บริษัทเร่งเดินหน้าการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะมาช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจหลัก คือปิโตรเลียม และปิโตรเคมี รักษาและขยายส่วนแบ่งของผลิตภัณฑ์ในตลาดแล้ว ยังสามารถแสวงหาโอกาสต่อยอดธุรกิจใหม่ ตอบโจทย์ความยั่งยืน และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะสร้างการเติบโตให้แก่ IRPC ในระยะยาวอีกด้วย” นายนพดล กล่าว

ส่วนแผนการลงทุนระยะยาวในโครงการผลิตอะโรเมติกส์ (MARS: Maximum Aromatics Project) กำลังการผลิตพาราไซลีน 1-1.3 ล้านตันต่อปี และเบนซีน 3-5 แสนตันต่อปี มูลค่าการลงทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท นายนพดล กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) และจากการพิจารณาอย่างรอบคอบเรื่องผลตอบแทนการลงทุน ส่งผลให้โครงการเลื่อนออกไปจากแผนเดิมที่จะแล้วเสร็จในปี 66 เป็นปี 67 แต่จะไม่กระทบต่อภาพรวมโครงการมากนัก

และยังจะขยายโอกาสส่งออกตามทิศทางตลาดโลก ปัจจุบัน IRPC สามารถจำหน่ายน้ำมันเตากำมะถันต่ำ 15,000 ตัน เป็นรายแรกของไทย ก่อนที่นโยบายขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ ร้อยละ 0.5 จากเดิมร้อยละ 3.5 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ส่งผลให้ธุรกิจกลั่นน้ำมันจะดีขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลที่เพิ่มขึ้น จึงคาดว่าแนวโน้มกำไรสุทธิในครึ่งหลังของปี 62 จะดีกว่าครึ่งปีแรกที่ทำได้ 660 ล้านบาท

Advertisment