IRPC ชี้แจง “ค่าการกลั่น” ไม่ใช่ “กำไร” ที่แท้จริงของโรงกลั่น

403
- Advertisment-

IRPC ชี้แจง “ค่าการกลั่น” ไม่ใช่ “กำไร” ที่แท้จริงของโรงกลั่น แต่เป็นเพียงดัชนีเบื้องต้น เนื่องจากไม่ได้หักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่ใช้ในการผลิตและการดำเนินการทั้งหมด เช่น ค่าเสื่อมราคาและค่าบำรุงรักษา นอกจากนั้น ธุรกิจโรงกลั่นยังมีปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆ ที่ควบคุมได้ยาก เช่น ความผันผวนของราคาน้ำมัน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และต้นทุนแฝงอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ราคาพลังงานพุ่งสูง IRPC พร้อมให้ความร่วมมือภาครัฐ ภายใต้กรอบของกฎหมายและการค้าเสรี

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า จากประเด็นที่มีการกล่าวถึงกำไรของธุรกิจโรงกลั่นกันอย่างกว้างขวางในระยะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในการเปิดโอกาสให้มีการระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูลอันนำไปสู่ข้อเท็จจริง และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขสถานการณ์พลังงานที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง  

IRPC ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงกลั่นมานานกว่า 40 ปี ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงของความแตกต่างระหว่าง “ค่าการกลั่น”  กับ “กำไร” ของโรงกลั่น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน กล่าวคือ ค่าการกลั่น หรือ Gross Refining Margin (GRM) เป็น “ดัชนีเบื้องต้น” เพื่อใช้ดูทิศทางหรือแนวโน้มผลประกอบการของโรงกลั่น โดยอาศัยหลักการคำนวณค่าการกลั่นจาก ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดที่โรงกลั่นผลิตได้ หักลบกับต้นทุนการผลิตเบื้องต้นที่โรงกลั่นใช้ในการผลิต เช่น ต้นทุนน้ำมันดิบ ค่าขนส่ง ส่วนโรงกลั่นในประเทศใด จะหักลบ ค่าประกันภัย ค่าเชื้อเพลิง ค่าน้ำ/ไฟ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนิยามและแนวปฏิบัติของโรงกลั่นในแต่ละประเทศ ค่าการกลั่น จึงเป็นเพียงดัชนีเบื้องต้นและไม่ใช่กำไรที่แท้จริงของโรงกลั่น เนื่องจากไม่ได้หักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่ใช้ในการผลิตและการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละโรงกลั่น เช่น ค่าเสื่อมราคา ค่าบำรุงรักษา เป็นต้น ตามมาตรฐานทางบัญชีและการค้าทั่วไป ซึ่งค่าใช้จ่ายและค่าดำเนินการเหล่านี้ จะแปรผันไปตามกลไกตลาดเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันมีการปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ค่าการกลั่นจึงไม่ใช่กำไรที่แท้จริงของโรงกลั่น

- Advertisment -

ทั้งนี้ ธุรกิจโรงกลั่นยังมีปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆ ที่ควบคุมได้ยาก แต่มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาน้ำมัน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น รวมถึงต้นทุนแฝงอื่นๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศ รวมทั้งมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น การสำรองน้ำมัน ตามกฎหมาย การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของโรงกลั่น IRPC ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ต้องเผชิญกับความท้าทายจากความผันผวนของสถานการณ์น้ำมันมาโดยตลอด ส่งผลกระทบให้ประสบปัญหาขาดทุนดังเช่น ในปี 2562 – 2563 ที่ผ่านมา แต่บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปรับกลยุทธ์และลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และสร้างศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อให้สามารถยืนหยัดเป็นโรงกลั่นหลักร่วมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศได้ต่อไป โดยผลประกอบการก็ได้เริ่มพลิกฟื้นขึ้นมามีกำไรในปี 2564 ที่ผ่านมา

บริษัทฯ ได้มีการเปิดเผยงบการเงิน งบกำไรขาดทุนทั้งรายปีและรายไตรมาสอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ ตลอดจนการตอบแทนสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลตามหลักธรรมาภิบาล

ทั้งนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นและมีความผันผวน IRPC พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ตามหลักปฏิบัติที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และภายใต้กรอบของกฎหมายและการค้าเสรี

Advertisment