IRPC แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/65 กำไร 1,501 ล้านบาท

248
- Advertisment-

IRPC เผยผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 กำไรสุทธิ 1,501 ล้านบาท มั่นใจโตต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญต้นทุนน้ำมันดิบขาขึ้น เดินหน้ารุกธุรกิจใหม่ ต่อยอดความแข็งแกร่งให้ธุรกิจปัจจุบันด้วยนวัตกรรมวัสดุและการใช้พลังงานที่สร้างสมดุลให้กับสังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเปิดประเทศ

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1 ปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 76,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาขายเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีกำไรขั้นต้น จากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 4,105 ล้านบาท หรือ 7.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 39 สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ทั้งน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานและปิโตรเคมี ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ประกอบกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินปรับตัวดีขึ้น และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM)  จำนวน 9,891 ล้านบาท หรือ 17.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) จำนวน 6,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 113 และมีกำไรสุทธิ 1,501 ล้านบาท

ด้วยวิสัยทัศน์การเป็นองค์กร “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว” ที่สอดรับกับทิศทางของโลกในอนาคต เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทุกรูปแบบ บริษัทฯ เดินหน้ารุกธุรกิจใหม่ ต่อยอดความแข็งแกร่งให้ธุรกิจปัจจุบันที่สร้างสมดุลทั้งในด้านธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษไปสู่กลุ่ม Smart Material ที่ได้คิดค้น วิจัย พัฒนาและผลิตเม็ดพลาสติก PP Meltblown สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศ รวมถึงการต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมี โดยการร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด เพื่อผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ที่ขึ้นรูปด้วยวิธี Meltblown โดยขณะนี้โรงงานได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและอยู่ในระหว่างการทดสอบการเดินเครื่องจักรและทดลองผลิตผ้า PP Meltblown ที่เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ เป็นต้น นับเป็นก้าวสำคัญของ IRPC ในการเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบ เพิ่มเสถียรภาพ และความสามารถในการแข่งขันการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ไทยให้ทัดเทียมกับสากล  

- Advertisment -

แนวโน้มภาวะตลาดน้ำมันดิบในไตรมาส 2 ปี 2565 คาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันของโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นจาก  ไตรมาสที่ผ่านมา จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน จากการคาดการณ์ว่า มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะยังคงยืดเยื้อและจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้น ในส่วนของปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบ ได้แก่ การที่สหรัฐฯ และพันธมิตรในองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency; IEA) มีความพยายามที่จะนำน้ำมันดิบจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve; SPR) มาใช้งานประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม 2565 รวมถึงคาดการณ์ว่าจะมีการส่งออกน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นจากอิหร่านในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ หากการยกเลิกการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน เป็นผลสำเร็จในช่วงปลายไตรมาส 2 นอกจากนี้ การประกาศมาตรการ Lockdown ของประเทศจีนในหลายพื้นที่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก

แนวโน้มภาวะตลาดปิโตรเคมีในไตรมาส 2 ปี 2565 คาดว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา โดยผู้ผลิตสินค้าปลายทางเริ่มกลับมาสั่งซื้อเม็ดพลาสติกมากขึ้น เนื่องจากคาดว่าราคาวัตถุดิบจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รัสเซีย- ยูเครน 

โดยปัจจัยที่ต้องเฝ้าติดตาม คือ ระดับความรุนแรงของสถานการณ์ดังกล่าวที่จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบและราคาวัตถุดิบที่อาจปรับเพิ่มมากขึ้นได้ รวมถึงความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามการปรับตัวในการดำเนินชีวิตแบบวิถีใหม่ (New normal) ประกอบกับความต้องการในภาคธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

โดย EV Car จะใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบในปริมาณมากเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตใหม่จำนวนมากในปี 2565 ทั้งตามแผนเดิม และที่เลื่อนมาจากปี 2564 โดยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากจีน ตามนโยบายการลดการพึ่งพาการนำเข้าปิโตรเคมี (Self-sufficiency) ปัญหาค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาด้านความแออัดของท่าเรือซึ่งอาจจำกัดกิจกรรมทางการค้า เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

ทั้งนี้ IRPC ได้ดำเนินการตามกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรง และทางอ้อม สนับสนุนและขับเคลื่อนธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ และจัดทำแผนงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เพื่อเตรียมก้าวไปสู่องค์กร Net Zero Emission นอกจากนี้ IRPC ได้เตรียมเสนอขายหุ้นกู้และหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปใช้ลงทุนตามกลยุทธ์ใหม่ การขยายผลการลงทุนเชิงอนุรักษ์ อาทิ ส่วนขยายโครงการโซลาร์บนทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ตามแนวทางการออกกรีนบอนด์ที่ได้รับการยอมรับในระดับมาตรฐาน โดยจะเปิดการจองซื้อในระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤษภาคมนี้

Advertisment