คุณอาริสรา สุธาสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกิจการองค์กร บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) พร้อมทีมงาน ลงพื้นที่ติดตามความสำเร็จและเข้าเยี่ยมชมพื้นที่ โครงการลำไทรโยงโมเดล IRPC Smart Farming จังหวัดอุดรธานี ณ ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาคนพิการอุดรธานี ซึ่ง IRPC ได้เข้ามาพัฒนาด้านการบริหารจัดการน้ำ ให้มีใช้ตลอดทั้งปี นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร ที่มีความเหมาะสมเข้ามาปรับใช้กับพื้นที่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ต้นแบบสำหรับคนพิการตามรูปแบบการเกษตรผสมผสาน จัดทำโรงเรือนปลูกผักปลอดสาร แบบยกพื้น และมอบเทคโนโลยี “เจ้าเอี้ยง โดรนอัจฉริยะ” ให้ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรและประกอบอาชีพของคนพิการ
ศูนย์การเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร (สวนกำนันพันล้าน) โดย IRPC เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์กล้วยตากแห้ง เพื่อให้เป็นสินค้าระดับชุมชน ให้คำปรึกษาและช่วยออกแบบตราสินค้า บรรจุภัณฑ์ การยื่นขอมาตรฐานอาหารและยา (อย.) ทำให้วันนี้กล้วยตากจากสวนกำนันพันล้าน กลายเป็นแบรนด์สินค้าประจำชุมชน และชมโรงเรือนปลูกเมล่อนซึ่งใช้ปุ๋ยหมีขาวของบริษัทฯ เข้ามาแก้ปัญหาด้านผลผลิต นอกจากนี้ ได้เยี่ยมชมโรงเรือนเลี้ยงไก่ขนาดย่อมของน้องปั๊ม และน้องโดนัท เยาวชนผู้พิการซึ่งเคยเข้าฝึกอบรมความรู้ด้านการเกษตรและเลี้ยงสัตว์สำหรับคนพิการ ณ ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาคนพิการอุดรธานี พื้นที่ดำเนินโครงการ ลำไทรโยงโมเดลและ IRPC Smart Farming ซึ่งสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดสร้างอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ และมีโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่เป็นของตนเอง
นอกจากนี้ ยังได้ติดตาม โครงการ IRPC Young Smart Farmers ที่เป็นพื้นที่ทดลองเรียนรู้ (Sandbox) นอกห้องเรียนกับโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ โรงเรียนกมลศิลป์สามัคคี ที่ดำเนินโครงการทำปุ๋ยหมักจากขยะทางการเกษตร ทำกิจกรรมทำผ้ามัดย้อมจากดอกดาวเรืองและเปลือกต้นประดู่ ซึ่งเป็นการเพิ่มทักษะจากการเรียนรู้นอกห้องเรียน อีกแห่งคือ โรงเรียนบ้านหนองสว่าง ทำโครงการเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมเทาและเห็ดนางฟ้า นักเรียนสามารถนำไปต่อยอดสร้างอาชีพและรายได้ในอนาคต ซึ่งตั้งแต่ปี 2562 ไออาร์พีซี ได้เริ่มเข้ามาพัฒนาโครงการฯ ในจังหวัดอุดรธานี สร้างเป้าหมายการพัฒนาชุมชน น้อมนำหลักการทรงงานเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มากำหนดวิสัยทัศน์ในการดำเนินโครงการด้านเกษตรแบบผสมผสานเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่และวิถีชีวิตของชุมชน โดยยึดหลัก ประหยัด เรียบง่าย และได้ประโยชน์สูงสุด