IRPC เสนอบอร์ดสัปดาห์นี้ปรับวิสัยทัศน์องค์กรใหม่ มุ่งสร้างนวัตกรรมใช้วัสดุและพลังงานเพื่อชีวิตที่ลงตัว ( To Shape Material and Energy Solution in Harmony with Life) เดินหน้าผลิตเม็ดพลาสติกพีพี เกรด เมลต์โบลน สำหรับผลิตหน้ากากอนามัยN95 ในเดือนหน้า ยอมรับโควิด-19 กระทบธุรกิจครึ่งหลังปี 2564 เร่งประเมินตลาดและขยายช่องทางรักษาระดับการส่งออกให้ดีขึ้น
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) IRPC เพื่อปรับวิสัยทัศน์องค์กรใหม่ โดยจะไม่มุ่งเน้นเพียงธุรกิจปิโตรเลียมหรือปิโตรเคมีเท่านั้น แต่จะต่อยอดธุรกิจและหาธุรกิจใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกยุคปัจจุบัน โดยวิสัยทัศน์ใหม่ที่กำหนดขึ้นคือ “การเป็นองค์กรที่“สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว (To Shape Material and Energy Solutions in Harmony with Life)” เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรให้แข็งแกร่งควบคู่ไปกับการสร้างสิ่งดีๆให้ทุกชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ IRPC จะให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการใช้วัสดุหมุนเวียนและการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์ และสุขภาพ ได้แก่ การคิดค้นนวัตกรรมเม็ดพลาสติก พีพี เกรด เมลต์โบลน (PP Melt blown: Polypropylene Melt blown) วัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 โดยมีกำลังการผลิตรวม 4 พันตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มผลิตเม็ดพลาสติกดังกล่าวได้ในเดือนก.ย. 2564 นี้
นอกจากนี้จะมีการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมทางการเกษตร ได้แก่ ซิงค์ออกไซด์นาโน (ZnO NANO) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุอาหารเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของพืชได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มผลิตผลทางการเกษตรและปลอดภัยต่อทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม
สำหรับด้านพลังงานนั้น IRPC จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานแห่งอนาคต ทั้งพลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน เช่น วัสดุเคลือบแผงโซลาร์เซลล์ลดความร้อน และอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรองให้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ตลอดจนการปรับปรุงกระบวนการผลิตในโรงกลั่นน้ำมันให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมากขึ้น
นายชวลิต กล่าวว่า ด้านการลงทุนนั้น IRPC เตรียมงบลงทุน 5 ปี(ปี 2564-2568) ไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้สำหรับโครงการที่อยู่ในมือ ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐาน EURO V (Ultra Clean Fuel Project: UCF) เพิ่มกำลังการกลั่นอีก 75,000 บาร์เรลต่อวัน มูลค่า 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 2567
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังของปี2564 เป็นเรื่องท้าทายหลังจากผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2564 มีกำไรสุทธิ 10,155 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2563 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 9,316 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19สายพันธุ์เดลต้าที่ทำให้หลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น แต่ยังมีทิศทางที่ดีเนื่องจากมีการพัฒนาและกระจายวัคซีนได้รวดเร็วในยุโรปและสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจยังไปได้ดี โดยขณะนี้ IRPC ได้เร่งประเมินตลาดและขยายช่องทางเพื่อรักษาระดับการส่งออกให้ดีขึ้น