WHAUP ทุ่มตั้งงบลงทุน 5 ปี สูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาท มุ่งขยายธุรกิจพลังงานสะอาด ควบคู่การบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องเทรนด์โลกคาร์บอนเป็นศูนย์ และพร้อมหนุนระบบสาธารณูปโภคให้กลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC รองรับการลงทุนในอนาคต
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center (ENC) ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (มหาชน) หรือ WHAUP ถึงการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปีนี้ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และทิศทางธุรกิจของบริษัทในอนาคต ซึ่งสะท้อนแนวทางการขยายธุรกิจอย่างสอดคล้องกับเทรนด์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก และแนวโน้มการเติบโตของการลงทุนในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทย
สำหรับ WHAUP นั้น นอกจากจะเป็นผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคต่างๆ แบบครบวงจรแก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ทั้ง 11 แห่ง แต่เพียงผู้เดียว โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ให้บริการอยู่ในพื้นที่ EEC ของรัฐบาล แล้ว ยังเป็นผู้ร่วมลงทุนและดำเนินการโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) รวมถึงการพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆ
–
–
ดร. นิพนธ์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนลงทุนที่เตรียมไว้ในช่วง 5 ปีข้างหน้า วงเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยจะแบ่งเป็นการลงทุนในส่วนของธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรม ในสัดส่วนร้อยละ 50 เท่าๆ กัน
โดยในส่วนธุรกิจไฟฟ้า จะเน้นเรื่องไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Private PPA ซึ่งดำเนินการแบบครบวงจร ตั้งแต่การยื่นขอใบอนุญาต ออกแบบทางวิศวกรรม ติดตั้ง ดำเนินงาน (operate) และบำรุงรักษา ซึ่งปัจุบันบริษัทฯ มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในทุกแพลตฟอร์ม ทั้ง โซลาร์รูฟท็อป โซลาร์คาร์พาร์ค โซลาร์บนทุ่นลอยน้ำ และโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้ 53 ล้านบาท จากโครงการ Solar Rooftop ที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 46 เมกะวัตต์ และปัจจุบันมีกำลังผลิตติดตั้งอยู่ในมือแล้ว 63 เมกะวัตต์ และคาดว่าภายในปี 2564 นี้ จะได้กำลังการผลิตครบตามเป้าหมาย 90 เมกะวัตต์ และเดินหน้าต่อเนื่องสู่เป้าหมาย 300 เมกะวัตต์ ในปี 2566
“บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้ได้ 300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 โดยเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าโซลาร์รูฟท็อปในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคมอุตสาหกรรม ที่ยังมีดีมานด์อยู่อีกมาก เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าการซื้อไฟฟ้าจากระบบ สามารถเข้าไปช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้าได้” ดร.นิพนธ์ กล่าว
ในขณะที่ โครงการทดสอบระบบการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างโรงงานต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรม หรือ Peer to Peer Energy Trading โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นโครงการนำร่องภายใต้โครงการ ERC Sandbox ของทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่มีการเริ่มทดสอบการจ่ายไฟฟ้าจากหลังคาโรงงานหนึ่ง ข้ามเขตไปยังอีกโรงงานหนึ่งที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า ผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หากประสบความสำเร็จ โดยรัฐกำหนดอัตราค่าส่งผ่านสายส่ง หรือ Wheeling Charge ในอัตราที่เหมาะสม ไม่สูงจนเกินไป ก็จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถที่จะขยายฐานลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่อยากจะใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปได้เพิ่มขึ้นอีกมาก
–
ดร. นิพนธ์ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทฯ ยังศึกษาควบคู่ไปกับระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System) เพื่อให้การบริหารจัดการไฟฟ้ามีความเสถียรมากขึ้น
“ทิศทางการขยายธุรกิจของบริษัทฯ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่มุ่งเรื่องของพลังงานสะอาดและการบริหารจัดการน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมนั้น มีความสอดคล้องกับเทรนด์ของโลกและทิศทางแผนพลังงานแห่งชาติของภาครัฐ ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และส่งเสริมให้มีพลังงานสะอาดเข้าสู่ระบบมากขึ้น” ดร. นิพนธ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในภาพรวม WHAUP ตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น รวมทั้งสิ้นในปี 2564 แตะที่ระดับ 670 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากปีก่อน พร้อมกันนี้บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการเสาะหาและศึกษาโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A opportunity) ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) และพลังงานลม (Wind Farm) ในประเทศเวียดนาม อีกด้วย
สำหรับในส่วนของการขยายการลงทุนในธุรกิจบริหารจัดการน้ำนั้น จะเป็นการลงทุนทั้งในส่วนแหล่งกักเก็บน้ำดิบเพิ่มเติมอีก 2-3 บ่อ ในพื้นที่ EEC เพิ่มเติมจากบ่อน้ำขนาดพื้นที่ 110 ไร่ ในจังหวัดสระบุรีที่ได้ขุดในปีที่แล้วรวมทั้งการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์น้ำให้ตอบโจทย์ลูกค้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เช่น การนำน้ำเสียที่ได้จากกระบวนการบำบัดและใช้ใหม่ (Wastewater reclamation) ไปผลิตเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized water) และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified water)
“โดยการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมในธุรกิจบริหารจัดการน้ำจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และพร้อมซัพพลายให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ในพื้นที่ EEC ในอนาคต ในขณะที่การลงทุนธุรกิจบริหารจัดการน้ำในต่างประเทศอย่างเวียดนาม ก็จะเป็นการขยายเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น”
ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า บริษัทฯ ยังคงมองหาโอกาสในการที่จะเข้าไปซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) ในธุรกิจไฟฟ้าและน้ำประปา ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย
สำหรับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง พบว่าตัวเลขการใช้น้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมนั้นยังเติบโตได้ดี โดยยังมีโครงการใหม่ของลูกค้า คือ โรงไฟฟ้าไอพีพีของกลุ่มกัลฟ์ ที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในยูนิตที่ 2 อีก 625 เมกะวัตต์ ที่จะทำให้การใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
และเมื่อพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดร. นิพนธ์ กล่าวว่า บริษัทฯ มีมาตรการที่เรียกว่า “Bubble and Seal” คือจัดที่พักและดูแลให้พนักงานทำงานอยู่ในพื้นที่ตลอด 14 วัน เพื่อไม่ให้การดำเนินงานมีปัญหาและหยุดชะงัก เช่นเดียวกับกลุ่มลูกค้าของบริษัท ซึ่งการปฏิบัติที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีปัญหาและอุปสรรคต่อการทำงานแต่อย่างใด
“บริษัทฯ มีความมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการให้บริการด้านสาธารณูปโภคและไฟฟ้าให้กับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง และมองว่าประมาณปลายปี สถานการณ์โควิด-19 น่าจะคลี่คลายกลับมาเป็นปกติได้ จึงคาดว่าภาพรวมธุรกิจในครึ่งปีหลังของปี 2564 นี้ จะมีผลการดำเนินงานที่เติบโตได้ตามเป้าหมาย” ดร. นิพนธ์ กล่าว
รับชมผลตอบรับจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้าของ WHAUP ที่ลิงก์วิดีโอด้านล่าง
–