สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) (IEEE PES – Thailand) ได้จัดการแข่งขัน “IEEE PES 5-Minute Student Project Pitch competition (5MSPP 2025)” ขึ้นเป็นปีที่ 4 โดยเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากทั่วประเทศนำเสนอผลงานด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและ พลังงาน ภายในเวลา 5 นาที ด้วยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่กระชับ ชัดเจน และน่าสนใจ เพื่อส่งเสริมทักษะการสื่อสาร ซึ่งเป็นสมรรถนะสำคัญของวิศวกรในศตวรรษที่ 21 โดยผลการแข่งขัน ทีม IonShield จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ประกอบด้วยนายอภิสิทธิ์ พสธร และนายรัชชานนท์ ผิวพรรณ ซึ่งนำเสนอผลงาน “เครื่องถนอมอาหารด้วยเทคโนโลยีพลาสมาอุณหภูมิต่ำชนิดการดิสชาร์จข้ามฉนวนในสภาวะบรรยากาศ” คว้ารางวัลชนะเลิศ ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทีม Smart EV Charging Fault Detection จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC ) รายงานถึงการแข่งขัน “IEEE PES 5-Minute Student Project Pitch competition (5MSPP 2025)” ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 โดยสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) (IEEE PES – Thailand)เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันได้นำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากการไฟฟ้าและบริษัทพลังงานชั้นนำของประเทศ นับเป็นเวทีที่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้พัฒนาศักยภาพ สร้างความมั่นใจ และเตรียมความพร้อมสู่การเป็นวิศวกรไฟฟ้าและพลังงานในอนาคต โดยในปีนี้มีทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันรวมทั้งสิ้น 40 ทีม และคัดเลือก 6 ทีมผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ได้แก่
1. ทีม The Sun – มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
2. ทีม Smart EV Charging Fault Detection – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
3. ทีม IonShield – มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
4. ทีม Green Link Innovator – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
5. ทีม Smart Grid NU – มหาวิทยาลัยนเรศวร
6. ทีม YT Electric – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา


โดยก่อนการแข่งขันรอบสุดท้ายจะเริ่มขึ้นทาง นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ในฐานะนายกสมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) ได้ให้ความสนใจ เยี่ยมชมการจัดแสดงผลงานของนักศึกษาในแต่ละทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายพร้อมพูดคุยแสดงความชื่นชมผลงานกับนักศึกษาด้วย

สำหรับผลการแข่งขันซึ่งตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ปรากฏว่าทีมที่ได้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม IonShield จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่มีนายอภิสิทธิ์ พสธร และนายรัชชานนท์ ผิวพรรณ เป็นผู้นำเสนอผลงาน “เครื่องถนอมอาหารด้วยเทคโนโลยีพลาสมาอุณหภูมิต่ำชนิดการดิสชาร์จข้ามฉนวนในสภาวะบรรยากาศ” และมี รองศาสตราจารย์ ดร.คณิศร์ มาตรา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Smart EV Charging Fault Detection จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีนายณัฐภัทร ตูพานิช และนางสาวสุปวีณ์ แสงทับทิมนำเสนอผลงานในหัวข้อเดียวกับชื่อทีม โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาพงษ์ นุตวงษ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท
และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Green Link Innovator จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เช่นเดียวกัน มี นายพิชญะ รัชผล และนายศุภวิชญ์ บูรณะเศรณี นำเสนอระบบคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับอาคาร โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย เตชะวัชราภัยกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท
สำหรับ รางวัลชมเชย จำนวน 3 ทีม ซึ่งแต่ละทีมได้รับเงินรางวัลทีมละ 5,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตรได้แก่
– ทีม The Sun (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) โดยนายธีรวัตร สังข์ชาตินำเสนอเรื่อง “การประเมินกำลังผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสมสำหรับที่อยู่อาศัย” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมสันติ์ ดาโรจน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
– ทีม Smart Grid NU (มหาวิทยาลัยนเรศวร) โดยนายกษิดิศเดช สวนปลิก และนายสุปกาณฑ์ อ่วมวงษ์นำเสนอเรื่อง “Day-ahead load forecasting and dispatch scheduling in the energy management of the SGtech platform” โดยมี ผศ.ดร.อัญชิษฐา ปราสาททรัพย์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก ดร.เศรษฐา ตั้งค้าวานิช และ ผศ.ดร.พรทิพย์ เม่นสิน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม
– ทีม YT Electric (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา) โดย นางสาวยุวดี กรรทิพากร และนายธนากร ขานสันเทียะ นำเสนอเรื่อง “วิธีการคัดเลือกกลุ่มโหลดรายอาคารสำหรับติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุทธณา คงจีน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
