IEEE PES Dinner Talk 2022 รัฐจับมือ ปตท. 3 การไฟฟ้า และ ภาคเอกชนด้านพลังงาน เดินหน้านำประเทศสู่พลังงานสีเขียว

830
- Advertisment-

IEEE PES Dinner Talk 2022 รัฐจับมือ ปตท. 3 การไฟฟ้า และ ภาคเอกชนด้านพลังงาน เดินหน้านำประเทศสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality ) สร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงพลังงาน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและราคาพลังงานที่เหมาะสม

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) (IEEE Power & Energy Society – Thailand หรือ IEEE PES – Thailand) จัดงาน IEEE PES Dinner Talk 2022 ภายใต้แนวคิด New Chapter of Green Energy : Thailand’s Opportunities and Challenges บทใหม่พลังงานสีเขียวของประเทศไทย โอกาสและความท้าทาย ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม โรงแรมเซนทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมีบุคคลในแวดวงพลังงานให้ความสนใจตอบรับเข้าร่วมงานเต็มความจุของห้องจัดงาน

ทั้งนี้งาน IEEE PES Dinner Talk จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงถึงนโยบาย และทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานสีเขียวของประเทศไทยในอนาคต รวมถึงการแสดงวิสัยทัศน์และบทบาทของผู้นำในองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ในการร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานและนวัตกรรมสีเขียวของประเทศไทย

- Advertisment -

ซึ่งในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อเรื่อง “นโยบายและทิศทางพลังงานสีเขียวของประเทศไทย” นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ชี้ให้เห็นถึงความเอาจริงต่อปัญหาสภาวะโลกร้อนทั้งในการประชุม COP26 และ COP 27 ของประเทศในกลุ่มอียู สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ที่กำหนดเป้าหมายชัดเจนในการเดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon neutrality ) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net zero emissions )

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน

โดยในส่วนของไทย ที่ประกาศเป้าหมายปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปี ค.ศ.2050 นั้น มีการจัดทำแผนพลังงานชาติ หรือ National Energy Plan ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2566 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้ปรับตัวเข้าสู่การลงทุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตามทิศทางของโลก

ทั้งนี้ภายใต้กรอบของแผนพลังงานชาติ มีการกำหนดนโยบายใน 4 ส่วนด้วยกัน คือ 1.การกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ให้มีพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50% 2.การปรับเปลี่ยนพลังงานในภาคขนส่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ให้ได้สัดส่วน 30% ภายในปี 2030 3.การปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และ 4.การปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition )

นายกุลิศ ยังได้เล่าถึงความคืบหน้าในนโยบายรัฐบาลผ่านมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2565ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว หรือ Utility Green Tariff ที่จะช่วยส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นด้วย

หลังการปาฐกถาพิเศษยังมีการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “บทใหม่พลังงานสีเขียวของประเทศไทย โอกาสและความท้าทาย (New Chapter of Green Energy : Thailand’s Opportunities and Challenges)” ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้บริหารขององค์กรที่เป็นผู้นำด้านพลังงานมาร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย

  • นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  • นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง
  • นายวิเชียร ปัญญาวานิชกุล รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
  • นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย เปอร์ สุวิกรม อัมระนันทน์ พิธีกรชื่อดังจากรายการ Perspective และ นุ่น ณัชชานันท์ เลียงอรุณวงศ์ พิธีกร และผู้ประกาศข่าวชื่อดังด้วย

โดยสรุปเนื้อหาสำคัญของเวทีเสวนา ทั้ง ผู้บริหารของ ปตท. กฟผ. กฟน.และ กฟภ.ต่างชี้ให้ผู้ร่วมงานเห็นถึงการปรับตัวขององค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมาย Carbon neutrality และNet zero emissions ที่ ซีอีโอ ปตท. นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ระบุว่า กลุ่ม ปตท.มีการประกาศความพร้อมสู่เป้าหมาย Net zero emissions ภายในปี 2040 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ เพื่อที่จะช่วยดึงค่าเฉลี่ยของประเทศให้เอกชนที่มีความพร้อมน้อยกว่าได้มีระยะเวลามากขึ้นในการปรับตัว พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐผนึกความร่วมมือกับเอกชนในการเข้าถึงแหล่งทุนระหว่างประเทศภายใต้ COP27 ที่มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับประเทศที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอนรวมทั้งประเทศไทยด้วย

ในขณะที่ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ตอบคำถามผู้ดำเนินรายการถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสีเขียว ว่าจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้นในระยะแรก เพราะเทคโนโลยีสีเขียวยังมีต้นทุนที่สูงแต่จะค่อยๆมีราคาที่ถูกลงในระยะยาว อย่างไรก็ตามภาครัฐคือสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ที่รับผิดชอบด้านนโยบาย จะมีการพิจารณาความสมดุลของสัดส่วนในการมีพลังงานสีเขียวไม่ให้กระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนที่มากเกินไป

ส่วนนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ กฟน. นำเสนอช่วงของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน หรือ Energy Transition เพื่อนำประเทศสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality ) ว่ารัฐจะต้องสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงพลังงาน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและราคาพลังงานที่เหมาะสม

และนาย วิเชียร ปัญญาวานิชกุล รองผู้ว่าการ PEA ชี้ให้ผู้ร่วมงานเห็นถึงแผนการปรับองค์กรของPEA ที่ดูแลผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 21.2 ล้านรายทั่วประเทศ ว่ากำลังมุ่งสู่ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่นำระบบดิจิทัลมาปรับใช้ในการทำงานมากขึ้น ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของPEA ตั้งแต่ปี 2566-2570

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีพิธีมอบรางวัลให้แก่วิศวกรและผู้ที่มีผลงานโดดเด่น น่ายกย่อง จำนวน 4 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลที่ IEEE PES (Headquarter) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้พิจารณา จำนวน 2 รางวัล คือ

  • IEEE PES Outstanding Engineer Award 2022 ผู้ได้รับรางวัลคือคุณกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ อดีตผู้ว่าการ กฟน.
  • IEEE PES Outstanding Chapter Volunteer Award 2022 ผู้ได้รับรางวัลคือ ดร.ครรชิต งามแสนโรจน์ จาก กฟผ.
    รางวัลที่ IEEE PES – Thailand เป็นผู้พิจารณา จำนวน 2 รางวัล คือ
  • IEEE PES Thailand Chapter Women in Power Award 2022 ผู้ได้รับรางวัลคือคุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น
  • IEEE PES Thailand Chapter Young Engineer Award 2022 ผู้ได้รับรางวัลคือ ดร.จิรวดี ผลประเสริฐ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร
Advertisment