IEEE PES DAY 2023​ กระตุ้นรัฐและเอกชน​ ปรับตัวเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

311
- Advertisment-

IEEE PES DAY 2023  เสวนา“Powering a Climate Safer Future” กระตุ้นรัฐและเอกชน​ ปรับตัวเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด​ ตอบโจทย์เป้าหมาย​ Carbon​ ​Neutrality​ ของประเทศในปี​ ค.ศ.​2050

เนื่องในโอกาสครบรอบ 23 ปี ของ สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) (IEEE PES – Thailand) จัดเสวนา IEEE PES DAY 2023 ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “Powering a Climate Safer Future” ในวันที่ 25 เมษายน 2566 เวลา 10.00 – 12.00 น. เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดและความคิดเห็นกันระหว่างหน่วยงานทางด้านพลังงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน พร้อมทั้งมุมมอง รูปแบบแนวคิดการดำเนินงานด้านพลังงานสะอาด รวมถึงการสร้างเครือข่ายพลังงานสะอาดให้กับสังคมเพื่อให้มีความยั่งยืนต่อไป โดยได้รับเกียรติจาก คุณวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวเปิดงานฯ และผู้บริหารขององค์กรภาครัฐ และเอกชน ได้แก่ ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.)​ คุณ​รองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และรองศาสตราจารย์ ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน​ จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย​ ร่วมเป็นวิทยากร โดยมี คุณฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องประชุมชั้น 12A อาคารวัฒนวิภาส อาคารบี การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ

- Advertisment -
รองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

โดยสาระสำคัญ​ ในเนื้อหาการบรรยายของ​ คุณรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ระบุถึงความพยายามในการที่จะบริหารจัดการในภาพรวมของ​ อบก.​ทำแนวทาง​ ( guideline )​ เรื่อง​ Carbon​ Neutrality​ และ​ Net​ Zero​ Emissions​ ตลอดทั้งซัพพลายเชน​ ไม่ใช่เฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง​ หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง​ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล​ ซึ่งปัจจุบันยังมีความแตกต่างกันและมีหลายมาตรฐาน​ทั้งในฝั่งของยุโรปและสหรัฐอเมริกา
 
โดยเป้าหมาย​การจัดการ Carbon​ Neutrality​ ระดับประเทศนั้นให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องการลดการปล่อยก๊าซ​คาร์บอนไดออกไซค์​ แต่ในระดับองค์กร​ บริษัทต่างๆ​ เป็นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด​

ซึ่งภาครัฐกำลังจะมีการยกร่าง​กฏหมายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ​ออกมา​บังคับใช้​ จากเดิมที่การลดการปล่อยคาร์บอน​ เป็นเรื่องของภาคสมัครใจ​


 
ในส่วน​การบรรยาย​ ของดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สรุปให้เห็นถึงความยุ่งยากในกระบวนการดำเนินงานเรื่องการปรับลดคาร์บอนของบริษัท​ในประเทศไทย​ ทั้งในส่วนของกฏระเบียบภาครัฐที่ยังไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินการได้อย่างเต็มที่​ โดยเฉพาะกับบริษัท​RE100​ ที่มีเป้าหมายต้องการจะใช้พลังงานหมุนเวียนทั้ง​100​ % ในขณะที่มาตรฐานที่ให้การรับรองทั้งจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป​ สำหรับไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนก็เป็นคนละมาตรฐาน​กัน​ ดังนั้นในภาพรวม​ บริษัทส่งออกที่ทำการค้าส่งออกกับประเทศใด​ ก็จะพยายามยึดถือแนวปฏิบัติตามกฏระเบียบของประเทศนั้น​ ที่จะออกมาใช้กีดกันทางการค้า​ โดยหากบริษัทนั้นๆซึ่งรวมถึงซัพพลายเออร์​ไม่มีการปรับตัวรองรับ​ ก็จะต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่าย ที่เพิ่มขึ้น​

ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้โดยหลักของมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน​ หรือ​ CBAM​ ที่ทางยุโรปและสหรัฐ​อเมริกาจะนำมาใช้มีหลักการสำคัญใน​ 3​ เรื่อง​ คือ​ 1.การชดเชยความได้เปรียบด้านต้นทุนให้กับบริษัทที่ลงทุนเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอน​ 2.ปรับระดับความสามารถในการแข่งขันระหว่างบริษัทในยุโรปและสหรัฐ​อเมริกา​ และ​ 3.​ การกำหนดราคาคาร์บอน​

โดย​ ดร.สุวิทย์​ ยังให้คำแนะนำต่อ​ SME ไทย​ที่ต้องมีการส่งออกหรือต้องซัพพลายสินค้าให้กับบริษัท​ RE​100​ ในไทย​ ด้วยว่า​ จะต้องเร่งทำความเข้าใจกับเรื่องนี้และปรับตัว​ โดยบางธุรกิจที่เป็นภาคการผลิต​ เป็นเรื่องยากที่จะไปให้ถึงRE100​ แต่ถ้าทำให้ได้ถึง​ RE​ 30​ ก็ถือว่าน่าพอใจ​แล้ว

รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย

ส่วน​ รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย​ซึ่งบรรยา​ยในเรื่อง​ New​ Energy​ Trend ในอนาคตของประเทศ​ ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย​ สรุปประเด็นที่น่าสนใจ​ ว่า​ ตามเป้าหมายที่ไทยจะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์​ลง​ 40​ % ในปี​ 2030​ Carbon​Neutrality​ในปี​ 2050​ และ​ Net-Zero​ Emissions​ ในปี​ 2065​ นั้น​ แนวโน้มเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าในอนาคตของไทย​ จะเน้นไปที่มาตรการการอนุรักษ์พลังงานเพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตทั้งมาตรการบังคับในภาคอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชย์​รวมทั้ง​มาตรการส่งเสริมในภาคครัวเรือน​

การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้เองโดยเฉพาะ​ โซลาร์รูฟท็อป​ การนำเทคโนโลยีระบบแบตเตอรี่กักเก็บ​พลังงานเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบผลิตไฟฟ้าที่มีสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในระดับสูง​ ในขณะที่โรงไฟฟ้าหลักขนาดใหญ่ที่เป็นโรงไฟฟ้าฐานนั้น​จะมีเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพ​ของระบบ​ โดยปรับให้มีการใช้เชื้อเพลิงที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำร่วมด้วย​

ทั้งนี้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ​ หรือ​ แผนพีดีพี​ ที่กำลังมีการจัดทำเป็นแผนใหม่นั้น​ มีทางเลือกที่จะให้ใช้พลังงานไฮโดรเจนผสมรวมกับก๊าซธรรมชาติ​ ที่จะเริ่มเข้าระบบในปี​ 2030​ และ​ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์​แบบเตาปฏิกรณ์มอดูลาร์ขนาดเล็ก​ ( Small Modular Reactor -​SMR​ )​ที่จะเข้าระบบในช่วง ​3​ ปีสุดท้ายของแผน​

Advertisment