อีกไม่เกิน 5 เดือนโครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ขนาด 45 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ก็จะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ ที่สามารถทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีเสถียรภาพ และยังเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ วันที่มีการเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าอีกด้วย
โครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ของ กฟผ. แห่งนี้ จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ให้ดีขึ้น จากเดิมพื้นที่ดังกล่าวต้องพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากโครงการห้วยเฮาะใน สปป.ลาว พร้อมๆ กับการโปรโมทให้เป็นจุดท่องเที่ยวชมทิวทัศน์ของโครงการที่สวยงามแห่งใหม่แห่งเดียวในประเทศที่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศไม่ควรพลาด
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า โครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ของ กฟผ. นั้นได้ไอเดียมาจาก โครงการสาธิต Hydro Floating Solar Hybrid System ขนาดเล็กแห่งแรกของโลกที่ เขื่อน Alto Rabagao ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทพลังงานแห่งโปรตุเกส หรือ EDP (Energias de Portugal) ที่คณะผู้บริหารของ กฟผ.เคยพาคณะสื่อมวลชนจากหลายสำนักของไทยไปดูงานเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม โครงการสาธิตที่เขื่อน Alto Rabagao นั้นมีขนาดเล็กว่า โครงการของ กฟผ. มาก โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพียง 220 กิโลวัตต์เท่านั้น แต่ที่น่าสนใจคือมีการนำมาใช้ผสมผสานกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของตัวเขื่อนที่มีกำลังผลิต 72 เมกะวัตต์ (เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 36 เมกะวัตต์)
ส่วนโครงการที่เขื่อนสิรินธรของ กฟผ. เฉพาะแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำก็ผลิตไฟฟ้าได้ถึง 45 เมกะวัตต์ กินพื้นที่บนผิวน้ำประมาณ 480 ไร่ (ไม่ถึงร้อยละ 1 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด) ซึ่งทีมวิศวกรของ กฟผ. พัฒนาโครงการให้เป็นระบบ Hybrid System คือผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใช้แหล่งพลังงานมากกว่า 2 ประเภทขึ้นไป เช่นเดียวกับที่เขื่อน Alto Rabagao โดยมีการผลิตไฟฟ้าจากทั้งแผงโซลาร์เซลล์และพลังน้ำจากเขื่อน และใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่แล้วร่วมกัน เช่น สายส่งไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าแรงสูง รวมถึงอุปกรณ์ในสถานีไฟฟ้าฯ ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า อุปกรณ์ตัดตอนไฟฟ้าแรงสูง ฯลฯ ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยลดต่ำลงได้ โดยมีจำนวนชั่วโมงการผลิตไฟฟ้าที่ยาวนานขึ้น เพราะในช่วงเวลากลางวันที่เดิมต้องปล่อยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนตอบสนองความต้องการ ก็จะเปลี่ยนมาผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แทน ส่วนในช่วงเวลากลางคืนที่ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไม่ได้ จึงจะใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ
จุดแตกต่างกันที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ โครงการสาธิตของ EDP ที่เขื่อน Alto Rabagao นั้น ได้รับการสนับสนุนค่าไฟฟ้าจากภาครัฐในรูปของ Feed in Tariff หรือ FiT ที่ 95 ยูโรต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง (3.2 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง) ภายในระยะเวลา 15 ปี เพื่อช่วยให้โครงการสามารถแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้นกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น ในขณะที่โครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ของ กฟผ.ที่เขื่อนสิรินธรนั้น ไม่ได้รับการส่งเสริม FiT จากภาครัฐ
นอกจากนี้ การลงทุนส่วนแผงโซลาร์เซลล์ ในโครงการของ กฟผ.นั้น ก็เป็นชนิดดับเบิลกลาส (Double Glass) ที่สามารถทนต่อความชื้นสูงได้ดี ทำให้ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งยังติดตั้งทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene ) ที่มีความทนทานต่อการใช้งานมากกว่าอีกด้วย
สำหรับความสำเร็จของโครงการสาธิต ณ เขื่อน Alto Rabagao นั้น ทาง EDP ผู้พัฒนาโครงการจะนำไปขยายผล ที่เมือง Alqueva ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของโปรตุเกส โดยหวังจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีกำลังผลิตติดตั้งรวมสูงถึง 480 เมกะวัตต์ ที่ตามแผนมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ใน ปลายปี 2563 ที่ผ่านมา แต่เมื่อโครงการมีความล่าช้าออกไป จึงทำให้โครงการ ที่เขื่อนสิรินธร ของ กฟผ. สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ก่อน และกลายเป็นโครงการที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกไปจนกว่าโครงการที่เมือง Alqueva จะแล้วเสร็จ
จุดสำคัญที่ทางผู้บริหาร กฟผ. พาคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทยเดินทางไปดูงานโครงการต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ผสมผสานโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำแบบไฮบริดที่เขื่อน Alto Rabagao ประเทศโปรตุเกสในครั้งนั้น ก็เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า เป็นโครงการที่สามารถทำได้จริง และยังไม่พบข้อบกพร่อง
ซึ่งจากวันนั้นที่เริ่มต้นจากการได้ไอเดีย มาถึงวันนี้ที่การพัฒนาโครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่เขื่อนสิรินธร มีความคืบหน้าไปมากกว่า 80 % โดยมีกำหนดเสร็จสมบูรณ์ 100% และจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2564 นี้ ก็น่าจะเป็นบทพิสูจน์ในเชิงประจักษ์ ให้เห็นถึงศักยภาพของ กฟผ. ว่าพูดแล้วทำได้จริง