ลดค่าไฟ​ ไล่บี้ กฟผ. ​ใครต้องรับภาระ?

1015
- Advertisment-

ประชานิยมเรื่องลดค่าไฟ​ ของรัฐบาลเศรษฐา​ โดยไล่บี้ กฟผ.​ ท้ายที่สุดประชาชนต้องแบกรับภาระ

รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรี​ มีกำหนดที่จะแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา​ ในวันที่​ 11-12​ กันยายน​ 2566​ นี้​ โดยหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน​ ที่รัฐบาลชุดนี้จะดำเนินการ​ คือ​ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้ง​ค่าไฟฟ้า​ ค่าน้ำมัน​ และก๊าซหุงต้ม​ ให้แก่ประชาชน ซึ่งระบุว่าจะปรับให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที

ที่ผ่านมา รัฐบาลชุดก่อนได้มีการปรับลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยปรับลดในส่วนของค่าไฟฟ้า​ที่เป็นต้นทุนผันแปร​ หรือที่เรียกว่า​ค่าเอฟที​ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ​  กกพ.​ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลค่าไฟฟ้า ได้มีการพิจารณาให้ปรับลดค่าเอฟทีลงมาแล้ว โดยในงวดล่าสุด​เดือนกันยายน​- ธันวาคม​ 2566​ ประมาณ​ 25​ สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งทำให้ค่าไฟฟ้า​เฉลี่ย​โดยรวม​ลดลง จาก​ 4.70​ บาทต่อหน่วย​ เหลือ​ 4.45​ บาทต่อหน่วย​ ซึ่งหากรัฐบาลเศรษฐาจะลดค่าไฟลงทันที​ ก็หมายความว่าจะปรับลดเพิ่มจากมติ ​กกพ. ที่เคยได้ปรับลดลงไปแล้ว

- Advertisment -

ทั้งนี้ นับตั้งแต่​ เดือนกันยายน​ 2564​ จนถึง​ เมษายน​ 2566​  ค่าเอฟที​ที่ประชาชนต้องจ่าย​ เป็นอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจริง​ เพราะ​นโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา​ ที่ให้ ​กฟผ. ช่วยแบกภาระส่วนต่างเอาไว้ก่อน​ เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชน​ ทำให้ภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่​ กฟผ. ต้องแบกรับแทนประชาชน นับตั้งแต่เดือน​กันยายน​ 2564​ จนถึงเดือนเมษายน​ 2566​ คิดเป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง​ รวม​ 138,485 ล้านบาท​ 

การแบกรับภาระแทนประชาชนดังกล่าว​ ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของ กฟผ.​ จนต้องมีการกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง​ การขอขยายระยะเวลานำเงินส่งรัฐ​ การขอขยายเวลาชำระค่าเชื้อเพลิงให้​ ปตท.

นอกจากนั้น การคำนวณค่าเอฟที​โดยคาดการณ์ล่วงหน้า​ (ก.ย.-ธ.ค.2566​)​ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ตัวเลขต้นทุนเชื้อเพลิงจริงอาจจะสูงกว่า​ที่​ กกพ. ใช้คำนวณ​ สัญญาณที่เป็นปัจจัยลบจากการผลิตก๊าซของแหล่งเอราวัณ​ (G1/61) ที่อาจจะไม่มาตามนัด จากเป้าหมายที่ตั้งใจจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้​ 600​ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน​ แต่ก็มีข่าวแว่วมาว่าสิ้นปี​นี้กำลังการผลิตอาจจะทำได้เพียง 400​ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น ทำให้ต้องนำเข้า​ LNG​ ที่มีราคาแพงกว่ามาทดแทน​ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น​กว่าตัวเลขที่​ กกพ.​ คาดการณ์​เอาไว้​

ดังนั้น ในการคำนวณค่าเอฟที​งวด​เดือนกันยายน ถึง เดือนธันวาคม​ 2566​ กฟผ. ​จึงมีหนังสือแจ้งถึง กกพ.​ ว่า​ กฟผ. มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการทยอยคืนเงินจากภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่​ กฟผ. แบกรับแทนประชาชนดังกล่าว และไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนแทนประชาชนได้อีก​ เนื่องจากจะส่งผลให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จึงจำเป็นต้องได้รับการทยอยจ่ายคืนเงินส่วนที่ กฟผ. เคยแบกรับไว้​ ตามงวดการจ่ายที่​นำเสนอ ​กกพ. เป็นเงินประมาณ​ 23,428 ล้านบาท

​ซึ่งหาก​เป็นไปตามมติ กกพ. ในการคิดค่าเอฟที​งวด​กันยายน​-ธันวาคม​ 2566​ ก็จะเหลือภาระต้นทุนจริงที่ กฟผ. ยังต้องแบกรับแทนประชาชน​อีก​ จำนวน​ 111,869  ล้านบาท​ โดยเงินส่วนที่ได้รับ​นี้ กฟผ. จะนำไปใช้ในการบริหารสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ การชำระคืนดอกเบี้ยเงินกู้​ และการจ่ายชำระค่าเชื้อเพลิงให้กับ​ ปตท.

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในแนวทางพิจารณาลดค่าไฟ​ฟ้าทันที​ตามนโยบาย​ของรัฐบาลเศรษฐาที่จะนำเข้าพิจารณาในการประชุม ครม. นัดแรก คือให้​ กฟผ. แบกรับภาระหนี้​ต้นทุนเชื้อเพลิงไปก่อน โดยยังไม่ต้องขอรับการทยอยจ่ายคืนตามงวดที่เคยแจ้งต่อ​ กกพ.​ เป็นเงินประมาณ​ 23,428  ล้านบาท ดังนั้น หากรัฐบาลยังยืนยันแนวทางที่จะให้​ กฟผ. แบกรับภาระ​ ก็อาจจะทำให่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง​ และกระทบต่อการชำระหนี้เงินกู้​ การชำระค่าเชื้อเพลิง​ และการนำเงินกำไรส่งรัฐ​

ที่ผ่านมา​ ผู้บริหาร กฟผ.​ ให้สัมภา​ษณ์สื่อสารไปยังประชาชนและรัฐบาล​ ว่า​การแบกภาระต้นทุนเชื้อเพลิง​แทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเอาไว้ก่อน​เพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าต้องปรับสูงขึ้นตามต้นทุนจริงในช่วงที่ผ่านมา​นั้น เหมือนกับลาที่แบกสัมภาระอันหนักอึ้ง จนหากมีใครวางเศษฟางลงบนหลังลาอีกเพียงเส้นเดียว​ก็อาจจะทำให้ลาตัวนั้นล้มลงได้​ 

ดังนั้น​ การประชุมคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลเศรษฐานัดแรก​ที่จะมีขึ้นหลัง​การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา​ ซึ่งจะมีวาระการลดราคาพลังงาน​รวมทั้งค่าไฟฟ้า​โดยทันที​ นั้น รัฐบาลจึงต้องมองถึงแนวทางอื่นๆ มาดำเนินการ​ เช่น การจัดสรรงบประมาณส่วนอื่นมาช่วยเหลือลดผลกระทบค่าไฟฟ้า​ และช่วยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง​ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ได้เคยดำเนินการ​ เพราะหากให้​ กฟผ. ยังต้องแบกรับภาระหนี้ที่หนักอึ้งเช่นเดิม​ กฟผ.ก็จะประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถจ่ายคืนดอกเบี้ย​ และค่าเชื้อเพลิงได้ตรงตามเวล​าที่กำหนด ยกเว้นว่ากระทรวงการคลัง​จะมีมาตรการอื่นใดที่จะมาช่วย กฟผ. แก้ปัญหา​สภาพคล่อง​

ขอบคุณภาพจาก FB เศรษฐา ทวีสิน – Srettha Thavisin 

นอกจากนั้น กระทรวงการคลัง​ที่นายเศรษฐา​นั่งควบเป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่อีกตำแหน่ง​ ต้องไม่ลืมว่า​การที่ กฟผ. ต้องกู้เงิน​เพิ่ม​ ก็คือจะเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ​ และหากสัดส่วนหนี้เงินกู้ของ​ กฟผ. สูงเกินไป​ ก็จะกระทบต่อเครดิตเรทติ้งของ​ กฟผ.​ กระทบต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้​ ซึ่งในท้ายที่สุด​ ภาระทั้งหมดนี้ก็จะต้องถูกส่งผ่านไปที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ดี​   

นโยบายประชานิยมเรื่องค่าไฟ​ที่มุ่งแก้ปัญหาให้ประชาชนในระยะสั้น​ แต่ใช้วิธีการซ้ำเติมฐานะการเงิน​ของ กฟผ. ให้อ่อนแอ​ลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถลงทุนเพื่อคงบทบาทการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้กับประเทศได้​ จะกลายเป็นผลเสียที่ตกอยู่กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า​ ที่ต้องแบกภาระต้นทุนค่าไฟต่อเนื่องไปอีกในระยะยาว​

Advertisment