รองโฆษกรัฐบาล ชี้แจงความคลาดเคลื่อนของข่าวการค้นพบแหล่งแร่ลิเธียม​

339
- Advertisment-

รองโฆษกรัฐบาล ชี้แจงความคลาดเคลื่อนข่าวการค้นพบแหล่งลิเธียม​ ปริมาณ 14.8 ล้านตัน ในข้อเท็จจริงตามข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)เป็นปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource)ของ แร่เลพิโดไลต์ (Lepidolite) ที่มีความสมบูรณ์ของลิเธียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45%  ไม่ใช่ Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม พร้อมระบุหากมีการอนุญาตทำเหมืองและมีการออกแบบแผนผังอย่างเหมาะสม คาดว่าในอนาคต จะสามารถนำลิเธียมมาพัฒนาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1,000,000 คัน 
 

วันที่ 20 มกราคม 2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการค้นพบทรัพยากรแร่ ซึ่งรวมถึงแร่ลิเธียม​ที่ ณ​ ขณะนี้เป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวางของสังคมนั้น ล่าสุด​เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2567 กพร. ได้ชี้แจงข้อมูลชุดใหม่ เพื่อขยายความในรายละเอียดที่คลาดเคลื่อนบางประการ และช่วยสร้างความเข้าใจให้พี่น้องประชาชนเกี่ยวกับผลการสำรวจแหล่งลิเธียมในประเทศไทยนั้น ​ได้พบแร่เป็นจำนวนมากในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งมี​แหล่งลิเธียมที่มีศักยภาพอยู่ 2 แหล่งด้วยกัน คือแหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม​

ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุด พบว่า ในแหล่งบางอีตุ้มนั้น ขณะนี้ในขั้นตอนการดำเนินงานยังอยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียด เพื่อประเมินปริมาณสำรองอยู่ ในขณะที่แหล่งเรืองเกียรตินั้น ได้มีการประเมินแล้วว่ามีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน ซึ่งแร่ที่พบนั้นเป็นแร่เลพิโดไลต์ (Lepidolite) ที่มีความสมบูรณ์ของลิเธียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% ซึ่งหากมีการอนุญาตทำเหมืองและมีการออกแบบแผนผังอย่างเหมาะสม คาดว่าในอนาคต จะสามารถนำลิเธียมมาพัฒนาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1,000,000 คัน 

อย่างไรก็ตามในการนำเสนอข้อมูลก่อนหน้านี้ โดยเปรียบเทียบกับปริมาณสำรองในต่างประเทศนั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อแสดงถึงข่าวดีของประเทศไทยเกี่ยวกับการมีแหล่งวัตถุดิบสำคัญที่สามารถช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะมีปริมาณแร่ลิเธียม เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก นอกจากนี้ กพร. ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า คำว่า “ทรัพยากรแร่” หรือ Mineral Resource นั้นหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งไม่ได้หมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเธียมแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการค้นพบ “แร่ดิบ” ที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีแร่สำคัญคือ “แร่ลิเธียม” อยู่ในนั้นด้วย

โดยเอกสารข่าวของ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่ามีการค้นพบแหล่งลิเธียมในประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งแร่จากหินแข็งในพื้นที่แหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา โดยแหล่งลิเธียมเรืองเกียรติมีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน ที่เกรดลิเธียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเธียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน 

หากออกแบบแผนผังการทำเหมืองอย่างเหมาะสมและสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ 25% คาดว่าจะสามารถนำลิเธียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน นั้น

- Advertisment -

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอชี้แจงว่า คำว่า Mineral Resource มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเธียม
 

ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเธียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเธียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้  

สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้เป็นแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเธียมหรือเกรดลิเธียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% 

แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเธียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่มีความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า อีกทั้งแร่ลิเธียมยังมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ดีบุกและธาตุหายากอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเธียมเพิ่มเติมหากมีการสำรวจในอนาคต   

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ลิเธียมจำนวน 3 แปลง ในพื้นที่จังหวัดพังงา และมีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจหาลิเธียมในพื้นที่จังหวัดอื่นอีก เช่น จังหวัดราชบุรี และ จังหวัดยะลา 

โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะเร่งรัดให้เกิดการสำรวจแร่ลิเธียมและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเธียม เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป

Advertisment