ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น 4% โดย Reuters รายงานว่าซาอุดีอาระเบียจะขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันดิบแบบสมัครใจปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกไปอีก 1 เดือนจากปัจจุบันสิ้นสุดเดือน ส.ค. 66 เป็นเดือน ก.ย. 66 อย่างไรก็ตาม วันที่ 2 ส.ค. 66 ราคา NYMEX WTI ปิดตลาดต่ำกว่า 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบ 4 วัน หลังสถาบัน Fitch Ratings ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Long-Term Issuer Default Rating: IDR ) ของสหรัฐฯ ลง 1 ขั้น
ด้านปัจจัยพื้นฐาน EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ก.ค. 66 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 17 ล้านบาร์เรล ลดลงรายสัปดาห์มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ (นักวิเคราะห์จาก Reuters คาดว่าจะลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน ) ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันดิบในคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) อยู่ที่ 346.8 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2526
คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 80-85 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จับตาการประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่ม OPEC+ ที่จะจัดขึ้นแบบออนไลน์ในวันที่ 4 ส.ค. 66 โดย Reuters คาดการณ์ว่า OPEC+ จะคงนโยบายลดการผลิตน้ำมันดิบ 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปี 2567
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Eurostat รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (Harmonized Indices of Consumer Prices: HICP) ซึ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) ของยูโรโซน (20 ประเทศ) ในเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ +5.3% จากปีก่อน ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 65
- Reuters รายงานว่า OPEC ผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 66 ลดลง 840,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนอยู่ที่ 27.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยซาอุดีอาระเบียผลิตลดลงจากเดือนก่อน 860,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 9.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- นาย Alibek Zhamauov รมว.พลังงานของคาซัคสถาน แถลงว่าบริษัท Tengizchevroil ปิดซ่อมแซมฉุกเฉินแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Tengiz (610,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 26-27 ก.ค. 66 ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลงประมาณ 88,000 – 95,000 บาร์เรลต่อวัน และมีแผนปิดซ่อมบำรุงประจำปีตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 66 เป็นระยะเวลา 40 วัน
- McKinsey & Company รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ทั่วโลกในเดือน มิ.ย. 66 ลดลงจากเดือนก่อน 19 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 4,560 ล้านบาร์เรล ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 66 เนื่องจากปริมาณสำรองของประเทศกำลังพัฒนา (Non-OECD) ลดลง หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- วันที่ 27 มิ.ย. 66 ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% (เพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 9 ติดต่อกัน) ทำให้อัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate, Main Refinancing Operations Rate และ Marginal Lending Facility Rate อยู่ที่ระดับ 3.75%, 4.25% และ 4.5% ตามลำดับ
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ขึ้น 0.25% มาอยู่ที่ 5.25-5.50% สูงสุดในรอบ 22 ปี เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ +2% จากปีก่อน
- กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ ยกเลิกการซื้อน้ำมันดิบเพื่อเติมคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณ 6 ล้านบาร์เรล ที่ประกาศเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 66 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ เคยระบุเกณฑ์การเข้าซื้อที่ช่วงราคา 67-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล