กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังติดลบหนักถึง 8.6 หมื่นล้านบาท เงินไหลออกวันละประมาณ 268 ล้านบาท จากการชดเชยราคาดีเซล หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น คาด เม.ย. 2567 ติดลบแตะระดับ 1 แสนล้านบาทอีกครั้ง ชี้กองทุนฯ ยังเหลือเงินกู้ที่สามารถเบิกจากธนาคารได้อีก 30,333 ล้านบาท เพื่อพยุงกองทุนฯ ได้ในอนาคตยามฉุกเฉิน
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานสถานการณ์ทางการเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ยังติดลบมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกองทุนฯ ติดลบถึง -86,074 ล้านบาท (จากเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 ติดลบอยู่ -80,101 ล้านบาท ) โดยเกิดจากการนำเงินไปชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้บัญชีน้ำมันติดลบถึง -39,543 ล้านบาท และนำไปชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ทำให้บัญชี LPG ติดลบอยู่ -46,531 ล้านบาท
โดยในแต่ละวันกองทุนฯ อยู่ในสภาวะเงินไหลออกถึงวันละประมาณ 268.64 ล้านบาท ซึ่งมาจากการชดเชยราคาดีเซลทำให้เงินบัญชีน้ำมันไหลออก 268.40 ล้านบาทต่อวัน และชดเชยราคา LPG ทำให้เงินไหลออก 0.24 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ในเดือน เม.ย. 2567 กองทุนฯ จะกลับมาติดลบแตะระดับ 1 แสนล้านบาทได้อีกครั้ง (จากที่เคยติดลบสูงสุด 1.3 แสนล้านบาท เมื่อปี 2565)
ทั้งนี้กองทุนฯ ยังเหลือเงินกู้ที่สามารถเบิกจากสถาบันการเงินได้อีก 30,333 ล้านบาท เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องทางการเงินของกองทุนฯ แต่หากเงินกู้ดังกล่าวหมดลงท่ามกลางสถานการณ์กองทุนฯ ที่ยังติดลบสูงอยู่ กบน.อาจต้องพิจารณาหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอกรอบวงเงินกู้อีกครั้ง (จากปี 2565-2566 ที่รัฐบาลเคยให้กรอบวงเงินกู้ได้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท โดยทำเรื่องกู้รวมไปแล้ว 1.05 แสนล้านบาท)
อย่างไรก็ตามล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พยายามรักษาสมดุลราคาน้ำมันในประเทศ โดยมีมติปรับเปลี่ยนอัตราเงินเรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน ดังนี้ ผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ 2.40 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ส่งเข้ากองทุนฯ 1.05 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ส่งเข้ากองทุนฯ 0.41 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ส่งเข้ากองทุนฯ 0.16 บาทต่อลิตร และเบนซิน ออกเทน 95 ส่งเข้ากองทุนฯ 9.38 บาทต่อลิตร ขณะที่ดีเซล ทางกองทุนฯ ต้องนำเงินไปชดเชยราคามากขึ้นเป็น 4.57 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้ราคาจำหน่ายปลีกเกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึง 31 มี.ค. 2567
ส่วนค่าการตลาดน้ำมันที่ผู้ค้าได้รับ ในวันที่ 12 ก.พ. 2567 ซึ่งรายงานโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่า ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 1.61 บาทต่อลิตร ส่วนกลุ่มเบนซินยังสูงอยู่ที่ประมาณ 2.7 – 3 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดน้ำมันตั้งแต่ 1-12 ก.พ. 2567 อยู่ที่ 2.37 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่ควรได้ 1.50-2 บาทต่อลิตร)
ส่วนความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันตลาดโลกล่าสุด ณ วันที่ 12 ก.พ. 2567 เวลาประมาณ 14.30 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 80.56 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.71 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 76.61 เหรียญหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.23 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 81.95 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.24 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล