“กกพ.” ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ในมาตรา 64 มาตรา 69 และ ประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ในข้อ 11 ปรับลดค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 เหลือ 20.48 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปรับลดจาก 4.45 บาทต่อหน่วยเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ เดือนกันยายน 2566 ซึ่งผลจากมติดังกล่าวจะทำให้ กฟผ.เป็นหน่วยงานหลักในการแบกรับภาระต้นทุนเอาไว้ก่อนจนกว่าการเจรจากับ ปตท.เพื่อมาช่วยร่วมรับภาระจะได้ข้อสรุป
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 จากอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงมาอยู่ที่อัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย โดยให้กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ ให้ถูกต้อง รอบคอบ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น
“อาศัยอำนาจตามมาตรา 64 ประกอบกับมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และข้อ 11 ตามประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 45/2566 (ครั้งที่ 873) วันที่ 5 ตุลาคม 2566 มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ตามที่ผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเสนอมาในอัตรา 20.48 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามมติ ครม. ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างดำเนินการส่งหนังสือแจ้งการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) เพื่อประกาศค่าเอฟทีค่าใหม่ในรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 โดยผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกันยายน 2566 ไปแล้ว จะได้รับการหักส่วนลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวในรอบบิลเดือนตุลาคมนี้ต่อไป” นายคมกฤช กล่าว
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC )รายงานว่า สำหรับ มาตรา 64 ใน พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีเนื้อหาระบุให้ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กําหนดนโยบายและแนวทางการกําหนดอัตราค่าบริการในการประกอบกิจการพลังงาน
ส่วน มาตรา 69 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตเห็นว่าอัตราค่าบริการที่คณะกรรมการปรับ หรือ ให้ความเห็นชอบไปแล้วนั้นไม่เหมาะสมอันเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม การลงทุน เทคโนโลยี หรือเหตุอื่น ผู้รับใบอนุญาตอาจยื่นคําร้องขอปรับอัตราค่าบริการ ต่อคณะกรรมการเพื่อให้ความเห็นชอบได้และคณะกรรมการต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วน การปรับอัตราค่าบริการตามวรรคหนึ่งต้องกระทําภายใต้กรอบนโยบายและแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา 64 ด้วย
ในขณะที่ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ในข้อ 11 ระบุว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 64 และ มาตรา 65 มติคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกำหนด กกพ. อาจพิจารณาปรับค่าเอฟทีแตกต่างจากข้อเสนอประมาณการค่าเอฟที เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้าและความเป็นธรรมต่อผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน หรือรักษาเสถียรภาพของอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจัยอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การลงทุนหรือเทคโนโลยี
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 กกพ.ได้มีการเชิญ กฟผ.และ ปตท. มาชี้แจงถึงการดำเนินการตามมติ ครม.วันที่ 18 กันยายน 2566 โดยชี้ว่าการกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.45 บาท ตามมติ กกพ.เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นั้นเป็นการคำนวณที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65 และประกาศ กกพ. เรื่องกระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 แต่ส่วนที่นโยบายรัฐบาล ตามมติ ครม. ที่รับทราบแนวทางการปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือหน่วยละ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นผลให้เกิดส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์นั้น ต้องให้กฟผ.และปตท.ช่วยแบกรับภาระไปก่อนจนกว่าสถานการณ์พลังงานจะผ่อนคลายแล้วจึงเรียกเก็บค่าไฟฟ้าคงค้างคืนจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลัง
ซึ่งในส่วนของ ปตท. จะต้องปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็น ไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู และในส่วนของ กฟผ. ซึ่งแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง (Accumulated Factor: AF) ก่อนหน้านี้รวมประมาณ 1.35 แสนล้านบาทและอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์ หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 23,428 ล้านบาท ดังนั้นการดำเนินการตามมติ ครม. จึงต้องยกเว้นการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างดังกล่าวไว้ก่อน
อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าว อาจจะทำให้การปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยมีความล่าช้าในการปฎิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม กกพ.จึงมีการประชุมกันในวันที่ 5 ตุลาคม และตัดสินใจปรับลดค่าเอฟทีลง โดยใช้อำนาจตามมาตรา 64 ,69 และประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ในข้อ 11 ซึ่งผลจากมติดังกล่าว จะทำให้ กฟผ.เป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชน จนกว่าการหารือเพื่อร่วมกันแบ่งรับภาระ กับ ปตท.จะได้ข้อสรุป