บ้านปู เพาเวอร์​ ปรับแผนธุรกิจสู่ไฟฟ้าสีเขียว โชว์ผลประกอบการปี 2566 พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

598
- Advertisment-

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ปรับแผนธุรกิจสู่ไฟฟ้าสีเขียว เพิ่มสัดส่วน 17% ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน 800 เมกะวัตต์ ในปี 2568 โชว์ผลประกอบการปี 2566 EBITDA รวม 12,262 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากปัจจัยการลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ในรัฐเท็กซัส และโรงไฟฟ้าในจีน เตรียมส่งไม้ต่อให้ นายอิศรา นิโรภาส ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ฯ มีผลในวันที่ 2 เม.ย. 2567 

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท บ้านปูฯ อยู่ระหว่างการปรับแผนธุรกิจ โดยในอนาคตจะเน้นการผลิตไฟฟ้าสีเขียว หรือ ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการกำหนดเป้าหมายในปี 2568 ให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเป็นสัดส่วน 17% หรือ 800 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 4,500 เมกะวัตต์ สูงขึ้นกว่าปี 2566 ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน 11% หรือ 395 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 3,247 เมกะวัตต์ (ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2567 บริษัทฯ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มเป็น 3,642 เมกะวัตต์)   

ทั้งนี้การปรับแผนธุรกิจที่เน้นการผลิตไฟฟ้าสีเขียว เพื่อตอบโจทย์ทิศทางโลกที่เน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และช่วยลดภาวะโลกร้อน รวมทั้งเดินตามทิศทางนโยบายรัฐบาลที่กำลังจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ ที่เน้นผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้นเช่นกัน

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามการปรับแผน PDP ใหม่ก็ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจให้บริษัทฯ เช่นกัน โดยหากภาครัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน ทางบริษัทฯ ก็มีความพร้อมเนื่องจากมีประสบการณ์การลงทุนด้านธุรกิจไฟฟ้า 8 ประเทศทั่วโลก และเห็นว่าในอนาคตการซื้อขายไฟฟ้าจะปรับไปสู่รูปแบบใหม่คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าหันมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและมีการซื้อขายกันเองในพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งระบบการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ๆ ซึ่งบริษัทฯ สามารถนำความรู้ประสบการณ์จากธุรกิจในต่างประเทศมาช่วยพัฒนาประเทศไทยในอนาคตได้

สำหรับการผลิตไฟฟ้าสีเขียวนั้น เห็นว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมได้ดี และมีความมั่นคงด้านพลังงานมากกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนชนิดอื่น โดยหากสามารถยกระดับการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ได้ในระดับเชิงพาณิชย์ จะเป็นโอกาสให้เกิดการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

นายกิรณ กล่าวถึงผลประกอบการในปี 2566 ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 30,443 ล้านบาท โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 12,262 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีกำไรสุทธิ 5,319 ล้านบาท ซึ่งในปี 2566 บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ในรัฐเท็กซัส ซึ่งอยู่ติดกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ที่บริษัทฯ ได้เข้าไปลงทุนเมื่อปี 2564 และผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจไฟฟ้าในสหรัฐฯ ที่มีอยู่ครบวงจรทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไปจนถึงการขายไฟฟ้าในตลาดค้าส่ง (Wholesale) และตลาดค้าปลีก (Retail) รวมถึงร่วมลงทุนในโครงการ Cotton Cove ในแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการก้าวสู่ธุรกิจดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในสหรัฐฯ ซึ่งสามารถนำประสบการณ์ไปพัฒนาต่อยอดกับธุรกิจโรงไฟฟ้าได้ในอนาคต ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (CHPs) ในจีนทั้ง 3 แห่ง มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นจากการปรับตัวลดลงของราคาเชื้อเพลิงและรายได้จากการขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Emission Allowances – CEA)

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานผ่านการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการลงทุนในบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (SVOLT Thailand) ธุรกิจกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ครบวงจรเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การลงทุนในโอยิกะ (Oyika) สตาร์ทอัพสิงคโปร์ ผู้ให้บริการโซลูชันสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (Battery Swap Solutions) รวมถึงเดินหน้าโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มขนาดใหญ่ที่เมืองโตโนะ (Tono) จังหวัดอิวาเตะ (Iwate) ในญี่ปุ่น เพื่อการต่อยอดในธุรกิจซื้อขายพลังงาน (Energy Trading) ในอนาคต 

สำหรับในปี 2567 นี้ บริษัทฯ ยังคงพัฒนาและขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคุณภาพสู่สังคม หรือ Powering Society with Quality Megawatts ผ่าน 3 จุดแข็งในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ 1) ดำเนินงานด้วยคุณภาพระดับสากลจากความเชี่ยวชาญของทีมงานของบริษัทฯ เพื่อสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจและปรับตัวกับความท้าทายต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ 2) ผสานพลังร่วมในระบบนิเวศทางธุรกิจที่แข็งแกร่งใน 8 ประเทศยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ และผนึกกำลังร่วมภายในกลุ่มบ้านปูผ่านการแบ่งปันองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มโอกาสและมูลค่าทางธุรกิจ และ 3) สร้างคุณค่าที่ยั่งยืนแก่สังคมทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการเป็นองค์กรพลเมืองที่ดี ผ่านการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักความยั่งยืน

นอกจากนี้ในการพัฒนาบุคลากรภายในผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กร และการดำเนินงานตามแนวทางการวางแผนและพัฒนาผู้สืบทอดตำแหน่งสำคัญ (Succession planning and high potential management) ของกลุ่มบ้านปู โดยคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้ นายอิศรา นิโรภาส ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะมีผลในวันที่ 2 เม.ย. 2567  โดยนายกิรณ ลิมปพยอม จะดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (Chief Operation Officer: COO) ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญในการบริหารจัดการการดำเนินงาน (Operation) ของธุรกิจแหล่งพลังงานและธุรกิจผลิตพลังงานในทุกประเทศ

 นายอิศรา นิโรภาส ผู้อำนวยการสายอาวุโส – สายงานปฏิบัติการธุรกิจไฟฟ้า บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำในการบริหารว่า “ผมต้องขอขอบพระคุณคณะกรรมการบริษัทในความไว้วางใจให้ผมรับหน้าที่สำคัญนี้ต่อจากคุณกิรณ จากประสบการณ์การทำงานในสายปฏิบัติการในกลุ่มบ้านปูมาตั้งแต่ปี 2537 และการมีส่วนร่วมในการออกแบบทางวิศวกรรม การพัฒนาธุรกิจ และการจัดการงานด้านปฏิบัติการในโครงการสำคัญต่าง ๆ ผมมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสานต่อภารกิจของบริษัทฯ ในการเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และบริหารธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าใน 8 ประเทศ โดยยึดหลัก ESG ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี”

Advertisment