BESS ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ มิติใหม่ในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของ กฟผ.

5839
- Advertisment-

ความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของไทยมากน้อยแค่ไหน? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีการหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น….

ด้วยเหตุนี้ กฟผ. จึงได้มีการขยายการติดตั้งเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ หรือ BESS (Battery Energy Storage System) เพื่อช่วยลดความผันผวนในระบบไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตไฟฟ้าได้เป็นบางช่วงเวลา แบตเตอรี่นี้จะทำหน้าที่กักเก็บสะสมพลังงานส่วนเกินจากระบบส่งเพื่อนำไฟฟ้ามาจ่ายในช่วงเวลาที่ต้องการได้

โดยหลักการทำงานของแบตเตอรี่ BESS นี้ จะช่วยลดความผันผวนที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ควบคุม และรักษาความถี่ของไฟฟ้าให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยจะทำหน้าที่จัดการความหนาแน่นของระบบส่งที่เก็บสะสมพลังงานส่วนเกินจากระบบส่ง ด้วยการชาร์จแบตเตอรี่ในเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ เพื่อนำมาใช้จ่ายไฟในช่วงเวลาที่ต้องการ

- Advertisment -

แบตเตอรี่ BESS นี้ เป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ติดตั้งในตู้คอนเทนเนอร์ ข้อดีของแบตเตอรี่ชนิดนี้คือ น้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 15 ปี ให้พลังงานสูงกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่น ๆ มีพลังงานคงที่ ชาร์จได้รวดเร็ว รวมถึงไม่มีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติอีกด้วย จึงเป็นต้นกำเนิดของขุมพลังงานที่มีความเสถียรที่สุด และเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่จะเข้ามาแทนที่พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน กฟผ. ติดตั้งระบบ BESS ไว้ 3 แห่ง ที่ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้แก่

1. สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์

2. สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์

3. โครงการนําร่องการพัฒนาสมาร์ทกริด จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขนาด 4 เมกะวัตต์

และนอกจากนี้ กฟผ. ได้นำระบบกักเก็บพลังงาน BESS มาใช้ควบคู่กับ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา และล่าสุด “โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น” ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ผสานกับพลังงานน้ำจากเขื่อนให้ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เปรียบได้ว่า ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ หรือ BESS (Battery Energy Storage System) ทำหน้าที่เหมือนกับ Power Bank ที่คอยเก็บสะสมพลังงานส่วนเกินจากระบบส่ง โดยแนวโน้มของราคาแบตเตอรี่ที่ลดลง ผนวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากขึ้นจึงทำให้มีความคุ้มทุนในการนำแบตเตอรี่สำรองนี้เข้ามาใช้ในระบบไฟฟ้า นับว่าเป็นเรื่องดีที่ทาง กฟผ. มีการศึกษาและพัฒนาโครงการอย่างสม่ำเสมอ ปรับตัว ติดตามเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งจะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในเรื่องของการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ตามนโยบายพลังงานของประเทศที่มุ่งสู่ Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 โดยส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น


** อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง –>  กฟผ.โชว์ระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานและโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับรับมือความผันผวนพลังงานหมุนเวียน https://www.energynewscenter.com/34110-2/

Advertisment