ครม.ตั้ง​ “เทพรัตน์” เป็นผู้ว่าการ ​กฟผ.หลังยืดเยื้อมาเกือบปี​

494
- Advertisment-

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ นั่ง ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังกระบวนการยืดเยื้อมานานเกือบ​ 1​ ปี

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน​ ( Energy​ News​Center-ENC​ )​ รายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (3 มี.ค. 2567) มีมติเห็นชอบตามที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอ แต่งตั้ง นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์  เป็นผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่  แทน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.ที่ครบวาระไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.2566 

​ ที่ผ่านมาคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย​ ( กฟผ.)​ ที่มี​นายกุลิศ​ สมบัติศิริ​ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน​ นั่งเป็นประธาน​ ให้ความเห็นชอบชื่อนายเทพรัตน์​ เป็นผู้ว่าการ​ กฟผ.คนใหม่​ตั้งแต่การประชุม​เมื่อวันที่​ 8​ มี.ค.​2566​ แล้ว​ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน​ ณ​ ขณะนั้น​ไม่ได้นำชื่อนายเทพรัตน์​ เสนอต่อคณะรัฐมนตรึ​ ก่อนที่จะมีการประกาศยุบสภา​ วันที่​ 20 มี.ค.​ 2566​ ซึ่งเมื่อมีการเสนอชื่อนายเทพรัตน์​ เข้า ครม.ในช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการเพื่อพิจารณา​ ทำให้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง​( กกต.)​ด้วย​

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม​ หลังจากเลือกตั้งเมื่อได้รัฐบาลชุดใหม่และรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่​ เรื่องการแต่งตั้ง​ นายเทพรัตน์​ เป็นผู้ว่าการ กฟผ.ก็ยังไม่ถูกนำเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบ​ จนกระทั่ง​ นายกุลิศ​ สมบัติ​ศิริ​ เกษียณอายุจากปลัดกระทรวงพลังงาน​ เมื่อ​ 30​ ก.ย.2566​ และหลังจากนั้นในเดือน ต.ค.ก็ลาออก​ จากประธานบอร์ด​ กฟผ.​ทำให้บอร์ดทั้งคณะสิ้นสภาพไปด้วย​ กว่าที่จะตั้งบอร์ด กฟผ.ชุดใหม่​ ที่มี​ ดร.ประเสริฐ​ สินสุขประเสริฐ​ ปลัดกระทรวงพลังงาน​ เป็นประธาน​ และยืนยันชื่อนายเทพรัตน์​ ว่ามีความเหมาะสมเป็นผู้ว่าการ กฟผ.​ ก็ล่วงมาถึง วันที่ 21 ก.พ. 2567 และมีการนำเสนอให้​ ครม.เห็นชอบในวันที่​ 3​ มี.ค.​2567

ผู้สื่อข่าว​รายงานว่า​ มีกระแสข่าวว่าเหตุผลที่มีการยื้อเกมไม่ตั้งนายเทพรัตน์​ เป็นผู้ว่าการ กฟผ.​เสียทีเนื่องจากฝ่ายที่มีบทบาทกำกับกระทรวงพลังงาน​ ต้องการให้​ นายเทพรัตน์​เข้ามาดำเนินการแยก“ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator: SO) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระบบไฟฟ้าของ กฟผ.ประกอบด้วย ศูนย์ควบคุมระบบส่งไฟฟ้า (Transmission System Operator: TSO) และศูนย์ควบคุมระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Distribution System Operator: DSO) ออกมาเป็นอิสระจาก ​กฟผ.​ ท่ามกลางกระแสความไม่เห็นด้วยเพราะศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า​ เปรียบเสมือนหัวใจของความมั่นคงระบบไฟฟ้าประเทศ​ หากถูกแทรกแซงจากการเมือง​ ที่ใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางกลุ่มจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าและจะสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ​ของประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า​ นายเทพรัตน์​ จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ.ได้อีกประมาณ​ปีกว่าเท่านั้น​ จึงน่าติดตามว่า​ การแต่งตั้งผู้บริหารระดับรองผู้ว่าการ กฟผ.แทนผู้ที่เกษียณอายุอีกหลายตำแหน่งหลังจากนี้​ จะมีการวางตัวใคร ที่จะขึ้นมาเป็นผู้ว่าการ​ กฟผ.แทนนายเทพรัตน์​ เพื่อจะมาดำเนินการแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า​ ออกจาก​ กฟผ.ให้สำเร็จ หรือไม่

Advertisment