กรมธุรกิจพลังงาน แจงยอดใช้น้ำมัน 8 เดือน ม.ค.-ส.ค. 2566 เพิ่มขึ้น 2.3% แตะ 154.9 ล้านลิตรต่อวัน

951
- Advertisment-

กรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเฉลี่ยเดือน ม.ค. – ส.ค. 2566 เพิ่มขึ้น 2.3%  อยู่ที่ 154.88 ล้านลิตรต่อวัน ทั้งน้ำมันกลุ่มเบนซิน,น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) และ NGV เหตุมีการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ขณะที่น้ำมันกลุ่มดีเซล น้ำมันเตาและ LPG มีการใช้ลดลง จากราคาพลังงานโลกที่ยังสูง ยืนยันภาครัฐยังใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ พยุงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 32 บาทต่อลิตรต่อไป

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือน ม.ค. – ส.ค. 2566 อยู่ที่ 154.88 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.3% โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 5.5% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 70.0% และการใช้ NGV เพิ่มขึ้น 1.0% ขณะที่น้ำมันกลุ่มดีเซล น้ำมันเตาและ LPG มีการใช้ลดลง 3.9% , 9.3% และ 0.6% ตามลำดับ

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เดือน ม.ค. – ส.ค. 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.91 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.5% การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.10 ล้านลิตรต่อวัน และแก๊สโซฮอล์ E20 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.94 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ E85 และเบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 6.83 ล้านลิตรต่อวัน, 0.19 ล้านลิตรต่อวัน และ 0.47 ล้านลิตรต่อวัน ตามลำดับ ทั้งนี้ ส่วนต่างราคาแก๊สโซฮอล์ 95 ใกล้เคียงกับแก๊สโซฮอล์ 91 ประกอบกับแก๊สโซฮอล์ E20 มีราคาที่ต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ E85

- Advertisment -

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เดือน ม.ค. – ส.ค. 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 70.00 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.9% โดยเป็นการลดลงทุกชนิด สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 ลดลงมาอยู่ที่ 64.30 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาและน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 และน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 0.90 ล้านลิตรต่อวัน 0.15 ล้านลิตรต่อวัน และ 4.65 ล้านลิตรต่อวัน ตามลำดับ

ทั้งนี้ ภาครัฐยังคงมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซล โดยใช้มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจนถึงวันที่ 20 ก.ค. 2566 และตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2566 จะใช้มาตรการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ที่ 32 บาทต่อลิตร ต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะเข้าไปชดเชย เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลโลกมีความผันผวนจากความกังวลทางเศรษฐกิจและวิกฤตด้านการเงินจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือน ม.ค. – ส.ค. 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 13.30 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 70.0% เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวกลับมาเดินทางด้วยอากาศยานเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาจากช่วงเดือนที่ผ่านมาปริมาณการใช้ปรับตัวลดลงเล็กน้อย

การใช้ LPG เดือน ม.ค.- ส.ค. 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 18.19 ล้านกิโลกรัม (กก.)ต่อวัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.6% โดยภาคปิโตรเคมีมีการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 8.24 ล้าน กก.ต่อวัน ภาคครัวเรือนลดลงมาอยู่ที่ 5.70 ล้าน กก.ต่อวัน และภาคอุตสาหกรรมลดลงมาอยู่ที่ 2.00 ล้าน กก.ต่อวัน ขณะที่การใช้ในภาคขนส่งอยู่ที่ 2.25 ล้าน กก.ต่อวัน เพิ่มขึ้น 4.3% เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้น

การใช้ NGV เดือน ม.ค.- ส.ค. 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.43 ล้าน กก.ต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.0% เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการตามปกติ ประกอบกับมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงาน โดย ปตท. ร่วมอุดหนุนกลุ่มรถแท็กซี่และกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2566 จนถึงสิ้นปี

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เดือน ม.ค. – ส.ค. 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,042,520 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  1.3% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 92,532 ล้านบาทต่อเดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 968,409 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น1.0% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 87,481 ล้านบาทต่อเดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 74,111 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 5.8% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 5,051 ล้านบาทต่อเดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เดือน ม.ค.-ส.ค. 2566 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 164,378 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 3.0% คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 16,500 ล้านบาทต่อเดือน

Advertisment