กกพ.เรียกข้อมูล กฟผ.และ ปตท.เพิ่มทำให้การลดค่าไฟ 3.99 บาท/หน่วยตามนโยบายรัฐบาลยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ

551
- Advertisment-

กกพ.เรียกข้อมูลเพิ่มเติมจาก กฟผ.และ ปตท.อีกรอบ ทำให้การปรับลดค่าไฟ 3.99 บาทต่อหน่วย งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 ตามนโยบายรัฐบาลยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ  ในขณะที่การคิดคำนวณค่าไฟฟ้างวดถัดไป รอบ ม.ค-เม.ย. 67 มีแนวโน้มที่จะต้องปรับสูงขึ้นเนื่องจากต้องมีการบวกภาระต้นทุนคงค้างของ กฟผ.ที่จะต้องจ่ายคืนเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2566 ที่ได้รับทราบรายงานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการปรับลดราคาค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2566 จาก 4.45 บาทต่อหน่วยให้เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ว่า ล่าสุด กฟผ. และ ปตท. ได้ส่งรายละเอียดเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับการปรับลดค่าไฟฟ้าไปให้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน( กกพ.) พิจารณาแล้ว เช่น ข้อกฎหมายที่จะมารองรับการดำเนินการ และวิธีแบ่งการแบกรับภาระค่าไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. และ ปตท. แต่เนื่องจากข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ ทาง กกพ.จึงให้กลับไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม และนำกลับมาเสนอ กกพ.ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้สามารถออกประกาศลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยได้โดยเร็วที่สุดตามนโยบายของรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566  กกพ.ได้มีการเชิญ กฟผ.และ ปตท. มาชี้แจงถึงการดำเนินการตามมติ ครม.วันที่ 18 ก.ย.2566  โดยในส่วนของการกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.45 บาท ซึ่งเป็นมติ​ กกพ.เมื่อวันที่​ 26​ ก.ค.2566​ นั้นถือเป็นการคำนวณที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65 และประกาศ กกพ. เรื่องกระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565   ส่วนนโยบาย​รัฐบาล ที่เป็นมติ ครม. ที่รับทราบแนวทางการปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือหน่วยละ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นผลให้เกิดส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์นั้น จำเป็นต้องให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง แบกรับภาระไปก่อนจนกว่าสถานการณ์พลังงานจะผ่อนคลายลงจึงเรียกเก็บค่าไฟฟ้าคงค้างคืนจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลัง ​ โดย ปตท. จะต้องปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็น ไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู และในส่วนของ กฟผ. ซึ่งแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง (Accumulated Factor: AF) ก่อนหน้านี้รวมประมาณ 1.35 แสนล้านบาทและอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์ หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ​ 23,428 ล้านบาท​ นั้น เมื่อ ครม. มีมติให้ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าเหลือเพียงหน่วยละ 3.99 บาท กฟผ. จึงต้องยกเว้นการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างดังกล่าวไว้ก่อน  

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC ) รายงานว่า มีหลายปัจจัยทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเลขซึ่งเกี่ยวข้องกับการแบกรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้า ตามนโยบายรัฐบาล ทั้ง สถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และราคาก๊าซธรรมชาติ ทั้งในส่วนของ Spot LNG และ Pool Gas ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น การผลิตก๊าซธรรมชาติจาก แหล่งG1/61 ที่ไม่เป็นไปตามแผนที่จะต้องผลิตได้ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือน ธ.ค.2566  และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ไม่ขยายตัวเพิ่มตามที่คาดการณ์  โดยในการที่จะให้ ปตท.มาช่วยรับภาระไว้ก่อน ซึ่งเป็นตัวเลขรวมหลักหมื่นล้านบาทนั้น จำเป็นจะต้องนำเสนอเพื่อให้ได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด ปตท.เสียก่อนด้วย

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่น่ากังวลคือการคิดคำนวณค่าไฟฟ้า สำหรับงวดถัดไปคือ  เดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ซึ่ง กกพ.จะมีการประกาศตัวเลข ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 โดยยังจะต้องมีการบวกต้นทุนภาระคงค้างที่จะต้องจ่ายคืนให้กับ กฟผ. ไม่น้อยกว่า งวด ก.ย.-ธ.ค.2566 คือประมาณ 38 สตางค์ต่อหน่วย หากรัฐบาลยังคงใช้นโยบายการตรึงค่าไฟฟ้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน โดยให้ กฟผ.ยกเว้นการเรียกเก็บคืนเงินคงค้าง ต่อไปอีก จะทำให้ กฟผ.มีปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ที่อาจจะทำให้ไม่สามารถชำระคืนหนี้เงินกู้และ ชำระค่าเชื้อเพลิงให้กับ ปตท. และได้ตามกำหนด

Advertisment