กกพ.งัดมาตรา 64 และ 69 ปรับลดค่าไฟเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 ลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยให้ กฟผ.แบกรับภาระไปก่อน

949
ขอขอบคุณภาพจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
- Advertisment-

“กกพ.” ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ในมาตรา 64 มาตรา 69 และ ประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ในข้อ 11 ปรับลดค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 เหลือ 20.48 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปรับลดจาก 4.45 บาทต่อหน่วยเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ เดือนกันยายน 2566  ซึ่งผลจากมติดังกล่าวจะทำให้ กฟผ.เป็นหน่วยงานหลักในการแบกรับภาระต้นทุนเอาไว้ก่อนจนกว่าการเจรจากับ ปตท.เพื่อมาช่วยร่วมรับภาระจะได้ข้อสรุป

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 จากอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงมาอยู่ที่อัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย โดยให้กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ ให้ถูกต้อง รอบคอบ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น

- Advertisment -

“อาศัยอำนาจตามมาตรา 64 ประกอบกับมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และข้อ 11 ตามประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 45/2566 (ครั้งที่ 873) วันที่ 5 ตุลาคม 2566 มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ตามที่ผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเสนอมาในอัตรา 20.48 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามมติ ครม. ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างดำเนินการส่งหนังสือแจ้งการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) เพื่อประกาศค่าเอฟทีค่าใหม่ในรอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 โดยผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกันยายน 2566 ไปแล้ว จะได้รับการหักส่วนลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวในรอบบิลเดือนตุลาคมนี้ต่อไป” นายคมกฤช กล่าว

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC )รายงานว่า สำหรับ มาตรา 64 ใน พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีเนื้อหาระบุให้ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กําหนดนโยบายและแนวทางการกําหนดอัตราค่าบริการในการประกอบกิจการพลังงาน

ส่วน มาตรา 69 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตเห็นว่าอัตราค่าบริการที่คณะกรรมการปรับ หรือ ให้ความเห็นชอบไปแล้วนั้นไม่เหมาะสมอันเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม การลงทุน เทคโนโลยี หรือเหตุอื่น ผู้รับใบอนุญาตอาจยื่นคําร้องขอปรับอัตราค่าบริการ ต่อคณะกรรมการเพื่อให้ความเห็นชอบได้และคณะกรรมการต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วน การปรับอัตราค่าบริการตามวรรคหนึ่งต้องกระทําภายใต้กรอบนโยบายและแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา 64 ด้วย

ในขณะที่ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565  ในข้อ 11  ระบุว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 64 และ มาตรา 65  มติคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกำหนด กกพ. อาจพิจารณาปรับค่าเอฟทีแตกต่างจากข้อเสนอประมาณการค่าเอฟที เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ใช้ไฟฟ้าและความเป็นธรรมต่อผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน หรือรักษาเสถียรภาพของอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจัยอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม การลงทุนหรือเทคโนโลยี

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566  กกพ.ได้มีการเชิญ กฟผ.และ ปตท. มาชี้แจงถึงการดำเนินการตามมติ ครม.วันที่ 18 กันยายน 2566  โดยชี้ว่าการกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.45 บาท ตามมติ​ กกพ.เมื่อวันที่​ 26​ กรกฎาคม 2566​ นั้นเป็นการคำนวณที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65  และประกาศ กกพ. เรื่องกระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565   แต่ส่วนที่นโยบาย​รัฐบาล ตามมติ ครม. ที่รับทราบแนวทางการปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือหน่วยละ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นผลให้เกิดส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์นั้น ต้องให้กฟผ.และปตท.ช่วยแบกรับภาระไปก่อนจนกว่าสถานการณ์พลังงานจะผ่อนคลายแล้วจึงเรียกเก็บค่าไฟฟ้าคงค้างคืนจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลัง ​

ซึ่งในส่วนของ ปตท. จะต้องปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็น ไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู และในส่วนของ กฟผ. ซึ่งแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง (Accumulated Factor: AF) ก่อนหน้านี้รวมประมาณ 1.35 แสนล้านบาทและอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์ หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ​ 23,428 ล้านบาท​ ดังนั้นการดำเนินการตามมติ ครม. จึงต้องยกเว้นการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างดังกล่าวไว้ก่อน

อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าว อาจจะทำให้การปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยมีความล่าช้าในการปฎิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม  กกพ.จึงมีการประชุมกันในวันที่ 5 ตุลาคม และตัดสินใจปรับลดค่าเอฟทีลง โดยใช้อำนาจตามมาตรา 64 ,69 และประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565  ในข้อ 11   ซึ่งผลจากมติดังกล่าว จะทำให้ กฟผ.เป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชน จนกว่าการหารือเพื่อร่วมกันแบ่งรับภาระ กับ ปตท.จะได้ข้อสรุป

Advertisment