GULF และ Sinohydro บริษัทในเครือPOWERCHINA รัฐวิสาหกิจของจีน จัดตั้งบริษัท Pak Lay Power Company Limited เพื่อลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) กับ กฟผ.ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Lay กำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.6989 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง อายุสัญญา 29 ปี เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2575
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้มีหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ในวันที่ 20 มีนาคม 2566 บริษัท Pak Lay Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ GULF และ SHK จัดตั้งขึ้น เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Lay ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ โดย GULF ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 40 และ SHK ถือหุ้นร้อยละ 60 ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(Power Purchase Agreement) กับ กฟผ. โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีระยะเวลา 29 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.6989 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งโครงการฯ มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 1 มกราคม 2575 โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Lay มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์
โครงการดังกล่าวตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง เมืองปากลาย แขวงไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี ( Run of theRiver) ที่ไม่มีการกักเก็บน้ำในรูปแบบของเขื่อนประเภทอ่างเก็บน ้า (Reservoir)และไม่มีการเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง แต่ใช้การไหลของน้ำตามธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า โดยที่ปริมาณน้ำไหลเข้าเท่ากับปริมาณน้ำไหลออก ดังนั้น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง
โดยการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ GULF ในการเข้าสู่ตลาดพลังน้ำใน สปป.ลาว และสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท ในการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero Emissions)
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ทั้ง GULF และ Sinohydro (Hong Kong) Holding Ltd. ( SHK ) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Power Construction Corporation of China Ltd.(POWERCHINA) ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) กับ กฟผ. ในโครงการ Pak Lay ไปแล้ว
ซึ่งจะขายไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ให้แก่ กฟผ. ในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.6989 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง