ข่าวประชาสัมพันธ์
GPSC ตัดสิน 5 โครงงานสิ่งประดิษฐ์เยาวชนไอเดียนวัตกรรมสู่การต่อยอด บนเวที GPSC Young Social Innovator 2020 ปีที่ 3 โดยมีสถาบันการศึกษาและเยาวชนแห่เข้าร่วมส่งผลงานกว่า 300 โครงงานจากทั่วประเทศ ลุ้นชิงชนะเลิศโค้งสุดท้ายต้นปี 64 ดันเป็นโครงงานต้นแบบด้านการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งานจริงในชุมชน
นายณรงค์ชัย วิสูตรชัย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสรัฐกิจสัมพันธ์และกิจการสาธารณะ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า GPSC ได้จัดกิจกรรมแข่งขันและประกาศผลการคัดเลือกโครงการ GPSC Young Social Innovator 2020 ปีที่ 3 โดยในปีนี้ได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาและเยาวชนส่งผลงานโครงงานสิ่งประดิษฐ์ ภายใต้แนวคิด “พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Energy, Natural resource and Environment)” จำนวนกว่า 300 ผลงาน จากทั่วประเทศ โดยมีผลงานที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก จำนวน 30 ทีม และเข้าสู่การคัดเลือกในรอบชิงชนะเลิศ จำนวน 5 ทีมสุดท้าย ซึ่งจะได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทฯ เพื่อนำไปต่อยอดการพัฒนาองค์ความรู้ และใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เป็นโครงการต้นแบบด้านการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น การพัฒนาพลังงานที่มีประสิทธิภาพ พร้อมใช้งานจริงในชุมชน อาทิ การสร้างนวัตกรรมจากการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น จนนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ จำนวน 5 ผลงาน ประกอบด้วย
- ทีม YOUNG SCIENCE SR 2 โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ จังหวัดนครพนม ชื่อผลงาน เสปรย์กำจัดกลิ่นเท้า “เท้าหอม” (Foot odor spray “ThaoHom”)
- ทีม YOUNG SCIENCE SR โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ จังหวัดนครพนม ชื่อผลงาน กรดจากน้ำปลาส้มผสมซิงค์ออกไซด์ ลดกลิ่น ต้านเชื้อรา เพิ่มน้ำหนักยางพารา
- ทีม young’s box โรงเรียน คีรีมาศพิทยาคม จังหวัดสุโขทัย ชื่อผลงาน กล่องยืดอายุผลไม้
- ทีม SPT magic project โรงเรียนสตรีพัทลุง จังหวัดพัทลุง ชื่อผลงาน นวัตกรรมกันกระแทกและชะลอการสุกจากเส้นใยกาบกล้วย
- ทีม KKW NANO – Z โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จังหวัดขอนแก่น ชื่อผลงาน นวัตกรรมการจัดการคราบน้ำมันเหลือทิ้งจากภาคครัวเรือนโดยใช้ฟองน้ำยางพาราผสมธูปฤาษี และสารนาโนคาร์บอนแบล็คเพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นถ่านเชื้อเพลิงจากเปลือกทุเรียนผสมธูปฤาษีและสารนาโนคาร์บอนแบล็ค
โดยทั้ง 5 ทีม ได้กำหนดจัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศโครงการ YSI ซีซั่น 3 ในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งทีมชนะเลิศจะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกาศนียบัตรและทุนการศึกษา จำนวน 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง รองชนะเลิศอันดับสอง และรางวัลชมเชย 2 รางวัล จะได้รับโล่รางวัล ประกาศนียบัตรและทุนการศึกษาจำนวน 30,000 บาท 20,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับ
นอกจากนี้ GPSC ยังได้มอบทุนสนับสนุนผลงานให้กับทีมที่มีความโดดเด่นด้านกิจการเพื่อสังคมอีก 4 รางวัล เพื่อนำไปใช้ต่อยอดเป็นนวัตกรรมสู่สังคมและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนรวมมูลค่า 32,000 บาท โดยผลงานที่ได้รับการคัดเลือกประกอบด้วย
- ทีม Saint Fin-nich โรงเรียนเซนต์นิโกลาส จังหวัดพิษณุโลก ชื่อผลงาน นวัตกรรมเครื่องวัดระดับความสุกและความหวานของผลไม้
- ทีม WARISA TEAM โรงเรียนนวมินทราชินูทิศสตรีวิทยา พุทธมณฑล กรุงเทพมหานคร ชื่อผลงาน แผ่นทำความสะอาดจากใบข้าวโพดและเสริมประสิทธิภาพด้วยสารสกัดจากใบพลูและใบฝรั่ง
- ทีม Life’s a wave โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ชื่อผลงาน กระเป๋าโทรศัพท์ดูดซับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากยางธรรมชาติผสมคาร์บอนไฟเบอร์เคลือบนิกเกิล
- ทีม เสือสมิง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี จังหวัดลพบุรี ชื่อผลงาน อุปกรณ์ให้ความร้อนสำหรับการขึ้นลายด้ามไม้กวาด
“การจัดการแข่งขันโครงงานของเยาวชนภายใต้โครงการ GPSC YSI ถือเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการวางรากฐานของเยาวชนทั้งในด้านการพัฒนาองค์ความรู้จากการใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด และรู้คุณค่าของการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่ง GPSC ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับพันธกิจด้านการพัฒนาการศึกษาของเยาวชนในมิติต่างๆ เพื่อให้เยาวชนสามารถพัฒนาตนเอง ไปสู่การเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคตและร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศสู่การเติบโตอย่างเข้มแข็ง นับเป็นแนวทางที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว” นายณรงค์ชัย กล่าว
โครงการดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางและนโยบายของบริษัทฯ ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR) ในการส่งเสริมและสนับสนุนเด็กและเยาวชนของไทยให้เกิดการเรียนรู้ในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน