GPSC และ OR เดินหน้าติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน ในพีทีทีสเตชั่น-คาเฟ่ อเมซอน เพิ่มอีก 2 แห่ง

1357
- Advertisment-

GPSC ต่อยอดความร่วมมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เดินหน้าติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น และร้านคาเฟ่ อเมซอน เพิ่มอีก 2 แห่ง หวังพัฒนาระบบสมาร์ท เอนเนอยี่ โซลูชั่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานทดแทนมากขึ้น

นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารสินทรัพย์ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในฐานะแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า การติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System :ESS) ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น และร้านคาเฟ่ อเมซอน (PTT Station-Cafe Amazon) ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพิ่มเติมอีก 2 แห่ง คือ สถานีบริการน้ำมัน สาขามีนบุรี และสาขาจอมเทียน คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2563 หลังจากที่ได้นำร่อง (Pilot Project ) ไปแล้วแห่งแรกในพีทีที สเตชั่น และร้านคาเฟ่ อเมซอน สาขาศูนย์วิจัยวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่สามารถใช้งานในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

การดำเนินการดังกล่าว เป็นการต่อยอดความร่วมมือของ GPSC กับ OR ที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน (Digital Platform) ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น และร้านคาเฟ่ อเมซอน เพื่อการศึกษาและพัฒนาระบบสมาร์ท เอนเนอยี่ โซลูชั่น (Smart Energy Solution) ในการพัฒนาพลังงานทดแทนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

- Advertisment -

“การติดตั้งระบบ ESS ดังกล่าวนับเป็นโมเดลของเทคโนโลยีและการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานของกลุ่ม ปตท. อย่างแท้จริง โดยมุ่งหวังให้เกิดศักยภาพการดำเนินงานทางด้านนวัตกรรมพลังงาน และเป็นผู้นำในการนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ร่วมกับพลังงานทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถขยายผลในเชิงพาณิชย์ให้เกิดขึ้นจริงได้ในอนาคต” นายศิริเมธกล่าว

ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวเป็นระบบสมาร์ท เอนเนอยี่ โซลูชั่น ที่ประกอบด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ระบบกักเก็บพลังงานซึ่ง GPSC จะออกแบบการติดตั้งระบบที่คำนึงถึงโครงสร้างของอาคาร ที่สามารถรองรับการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา รวมถึงประเมินปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้า เพื่อนำไปสู่การออกแบบระบบการกักเก็บพลังงานให้เหมาะสม การพัฒนาระบบ ESS มีการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ ระบบระบายความร้อน และระบบป้องกันเพื่อความปลอดภัย (Safety Protection) ตามมาตรฐานที่กำหนด มีการทดสอบจนมีความมั่นใจเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ใช้อีกด้วย

นอกจากนี้ GPSC ยังได้ร่วมมือกับสถาบันนวัตกรรม ปตท. ออกแบบและพัฒนาระบบ ESS รวมถึงระบบสั่งการและควบคุมผ่านมือถือ (Mobile Software) ให้สามารถควบคุมสั่งงานระบบ ESS เพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าผ่านการควบคุมระยะไกล โดยเก็บข้อมูลช่วงเวลาของการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบเรียลไทม์ (Real Time) ที่สามารถเลือกแหล่งจ่ายไฟฟ้า ทั้งจากระบบ ESS และระบบสายส่งของการไฟฟ้าตามช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือในช่วงเวลาที่ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของวัน (Peak Time) เพื่อให้ต้นทุนการใช้ไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันลดลง ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน จะจัดเก็บไว้ในระบบคลาว เซอร์เวอร์ (Cloud Server) ทำให้สามารถรับรู้ข้อมูลการใช้งานได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ

“แนวทางการดำเนินงานดังกล่าวของ GPSC สอดรับกับยุทธศาสตร์ที่วางไว้ร่วมกับ ปตท. ในการวางแผนพัฒนาพลังงานจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ให้สำเร็จเพื่อลดข้อจำกัดในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องของพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากมีตัวแปรทางด้านสภาพอากาศและธรรมชาติ เพื่อก้าวสู่บริษัทผลิตไฟฟ้าชั้นนำด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในระดับสากล” นายศิริเมธกล่าว

Advertisment