แบงก์กรุงไทยปล่อยกู้5,200ล้านบาทให้ GKBI เดินหน้า “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์”

3512
- Advertisment-

GKBI ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม GGC และ KTIS เดินหน้าโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ แห่งแรกของประเทศไทย โดยเฟสแรก จะสร้างโรงหีบอ้อย โรงงานผลิตเอทานอล และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารกรุงไทย วงเงิน 5,200 ล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2562 พร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์ ไตรมาสแรกปี 2564 เตรียมงบ 10,000-30,000 ล้านบาท ต่อยอดโครงการในเฟสที่ 2 เพื่อการผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติกชีวภาพ

บริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเตรียล จำกัด หรือ GKBI เป็นบริษัทร่วมทุนในสัดส่วน 50 ต่อ 50 ระหว่าง บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด (KTBE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ KTIS ถือหุ้น 100% กับบริษัท จีจีซี เคมิคอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน)ได้ร่วมลงนามข้อตกลงขอรับการสนับสนุนทางการเงินกับธนาคารกรุงไทย จำนวน 5,200 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ หรือ NBC เฟสแรก ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสรรค์ โดยมีวงเงินลงทุนก่อสร้างรวมไม่เกิน 7,500 ล้านบาท  และส่วนที่เหลือเป็นเงินทุนของบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC และบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ GKBI

พิธีลงนามมีขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 27 มีนาคม 2562
โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานกรรมการกลุ่ม GGC และ นายปรีชา อรรถวิภัชน์ ประธานกรรมการกลุ่ม KTIS ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีฯ พร้อมด้วยผู้บริหารจาก KTB คือ นายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่  ผู้บริหาร สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร

- Advertisment -
เสกสรร อาตมางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC

นายเสกสรร อาตมางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC กล่าวว่า โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ถือเป็นไบโอคอมเพล็กซ์และ Bio Hub ครบวงจรแห่งแรกของไทย และนับเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2562 และดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564

โดยจะดำเนินการ 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นโครงการก่อสร้างโรงหีบอ้อย กำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน, โครงการก่อสร้างโรงผลิตเอทานอลมีกำลังการผลิต 600,000 ลิตรต่อวัน หรือประมาณ 186 ล้านลิตรต่อปี และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ มีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง  เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลงทุนต่อยอดการผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติกชีวภาพในระยะที่ 2 ส่วนระยะที่ 2 จะศึกษาด้าน Cellulosic Technology ร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งเป็นการนำชานอ้อยมาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ หรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขณะนี้ได้ปรับพื้นที่เรียบร้อยแล้วเพื่อรองรับนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีจุดเด่นด้านวัตถุดิบเพียงพอ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 10,000 – 30,000 ล้านบาท

สำหรับอ้อยที่จะนำมาหีบเพื่อส่งน้ำอ้อยเข้าสู่โรงงานเอทานอลแห่งใหม่ จะแยกจากอ้อยที่นำส่งเข้าสู่โรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS โดยมีพื้นที่ปลูกอ้อยของชาวไร่คู่สัญญาเพิ่มขึ้น 240,000 ไร่ คาดว่าจะผลิตอ้อยได้ 2.4 ล้านตันต่อปี ช่วยสร้างงานให้เกษตรกรในพื้นที่ สร้างงานจากโรงงานเอทานอลมากกว่า 400 คน ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำถึง 30% ขณะเดียวกัน ยังลดการย้ายถิ่นฐาน และสนับสนุนเกษตรกรใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยว เพื่อช่วยลดฝุ่นควันและมลพิษจากการเผาอ้อย สามารถลดการตัดอ้อยได้ 300-400 ตันต่อวัน รวมทั้งการรับซื้อชานอ้อยจากเกษตรกรเพื่อมาทำเชื้อเพลิงในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล และรับซื้อใบอ้อยมาทำปุ๋ยเพื่อใช้ในฤดูกาลเพาะปลูกต่อไป ขณะที่ต้นทุนการผลิตเอทานอลจากอ้อยไม่ได้สูงไปกว่าโมลาส ซึ่งสามารถแข่งขันได้

ณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS

ด้านนายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวว่า KTIS มีความสนใจร่วมทุนในเฟส 2 ส่วนพันธมิตรที่กลุ่ม GGC อยู่ระหว่างการเจรจานั้น เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มเนอเจอร์เวิร์กของสหรัฐอเมริกาที่จะเข้ามาร่วมในโครงการดังกล่าว เนื่องจากความมั่นใจหลังการเลือกตั้งทำให้ภาพลักษณ์การลงทุนของไทยดีขึ้น รวมทั้งการเดินหน้าของโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ และมีวัตถุดิบเพียงพอ โดย KTIS สามารถป้อนอ้อย 10 ล้านตัน เทียบกับเฟสแรกใช้อ้อย 2.5 ล้านตัน

สิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกกิตติมศักดิ์สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกกิตติมศักดิ์สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า การนำเอทานอลไปต่อยอดผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติกชีวภาพ จะช่วยลดปริมาณน้ำตาลที่ล้นตลาด ซึ่งไทยผลิตน้ำตาล 14-15 ล้านตัน แต่บริโภคเพียง 3 ล้านตัน ที่เหลือประมาณ 8-9 ล้านตัน เป็นการส่งออกแต่มีมูลค่าส่งออกลดลงเนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำ กระทบต่อชาวไร่อ้อย อย่างไรก็ตาม แม้ไทยส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ไม่สามารถแข่งขันกับบราซิลได้ เนื่องจากไม่สามารถกำหนดราคาขายน้ำตาลในตลาดโลกได้ ทางออกคือส่งออกให้น้อยลงและนำน้ำตาลจากอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล ซึ่งโครงการนี้ เป็นการนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลจะมีต้นทุนต่ำกว่าและสามารถแบ่งประโยชน์ให้เกษตรกรได้ดีกว่า พร้อมแนะรัฐกระตุ้นการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้น เช่น การลดหัวจ่ายน้ำมันกลุ่มเบนซินลง

นอกจากนี้ ราคาอ้างอิงเอทานอลอยู่ที่ 22.30 บาทต่อลิตร แต่ต้นทุนการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ไม่สามารถแข่งขันได้ ทำให้โรงงานผลิตเอทานอลบางแห่งหยุดผลิตชั่วคราวเพื่อรอให้ต้นทุนลดลง และหากราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มขึ้นก็เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนหันกลับมาใช้เอทานอลที่นำมาผลิตเป็นแก๊สโซฮอลล์เพิ่มขึ้น แต่การผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อยจะมีความยืดหยุ่นกว่า เนื่องจากในช่วงฤดูกาลหีบอ้อยโรงงานสามารถนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอล ขณะเดียวกันสามารถนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นไฮเทสโมลาส เพื่อนำมาใช้ในช่วงหลังฤดูกาลหีบอ้อยได้

Advertisment