GC เปิดโรงงาน ENVICCO ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

1802
- Advertisment-

GC เปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เอ็นวิคโค (ENVICCO) โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ระดับ Food Grade แห่งแรกในประเทศไทย ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หวังช่วยลดพลาสติกใช้แล้วในประเทศได้ถึง 60,000 ตัน/ปี ลดก๊าซเรือนกระจก 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เท่ากับการปลูกป่าประมาณ 78,000 ไร่ หรือปลูกต้นไม้ใหญ่มากกว่า 8 ล้านต้น

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้ GC มีความภูมิใจที่ ENVICCO พร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว โดยใช้วัตถุดิบทั้งหมด 100% เป็นพลาสติกใช้แล้วในประเทศ ผ่านเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัย เพื่อคืนคุณค่าให้กับพลาสติกใช้แล้วให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าอีกครั้ง โดยมีคุณสมบัติเทียบเท่าพลาสติกใหม่

โรงงานนี้ถือเป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทฯ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะทำให้ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ครบสมบูรณ์ และยังช่วยให้เกิดการสร้างงานในชุมชน ตอบโจทย์ BCG Model(Bio-Circular-Green Economy Model) ของประเทศไทยอีกด้วย

- Advertisment -

มิสเตอร์ กุนเทอร์ เลห์เนอร์ ประธาน บริษัท แอลพลา จำกัด (ALPLA) กล่าวว่า “ENVICCO เป็นโรงงานที่สร้างขึ้นได้อย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ ด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก GC โดยโรงงานที่ทันสมัยที่สุดแห่งนี้ นับเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจรีไซเคิลของ  ALPLA ในทวีปเอเชีย”

สำหรับ ENVICCO เป็นโรงงานมาตรฐานระดับโลก ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับ Food Grade ที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐ (U.S. Food and Drug Administration : US FDA) แห่งแรกในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยดำเนินการภายใต้ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (ENVICCO Limited) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง GC และ ALPLA ผู้นำระดับโลกในธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกและพลาสติกรีไซเคิล

โดยโรงงานมีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูงถึง 45,000 ตัน/ปี แบ่งเป็นเม็ดพลาสติก ชนิด rPET จำนวน 30,000 ตัน/ปี และ เม็ดพลาสติก ชนิด rHDPE จำนวน 15,000 ตัน/ปี การดำเนินการของ ENVICCO จะช่วยลดขยะพลาสติกในประเทศไทย ได้ถึง 60,000 ตัน/ปี ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เทียบเท่าการปลูกป่าประมาณ 78,000 ไร่ หรือ ปลูกต้นไม้ใหญ่กว่า 8.32 ล้านต้น

Advertisment