รัฐผนึกเอกชน ร่วมผลักดันการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด ในงาน Future Energy Asia และ Future Mobility Asia 20-22 ก.ค. นี้

715
- Advertisment-

พลังงาน จับมือ ปตท. และภาคเอกชน จัดสุดยอดการประชุมด้านพลังงานและนิทรรศการนวัตกรรมระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Future Energy Asia และ Future Mobility Asia ประจำปี 2565 ที่ไบเทค บางนา ระหว่าง 20-22 ก.ค. 2565 ผนึกกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานสะอาดระดับนโยบาย ภาครัฐประกาศเดินหน้าแผนพลังงานแห่งชาติชูพลังงานสะอาด ด้าน ปตท. ประกาศเดินหน้าลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมเป็นฮับซื้อขาย LNG ในอาเซียน ค.ศ. 2030 ให้ได้ 9 ล้านตันต่อปี ขณะที่ ปตท.สผ. ทุ่ม 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน 5 ปี เดินหน้าโครงการนำร่องกักเก็บคาร์บอนฯ ในหลุมเจาะปิโตรเลียม เริ่มทดลองในแหล่งอาทิตย์ก่อน  

วันนี้ 20 ก.ค.  2565 กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดีเอ็มจี อีเวนท์ จำกัด ร่วมจัดงานด้านพลังงานครั้งสำคัญระดับโลก  “ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี่ เอเชีย” (Future Energy Asia) และ “ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย” (Future Mobility Asia) ประจำปี 2565 การประชุมด้านพลังงานและยานยนต์พลังงานสะอาด และการจัดแสดงนิทรรศการ สุดยอดนวัตกรรมระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ค. 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารและนักลงทุนจากกว่า 50 ประเทศร่วมงาน รวมถึงมีการจัดแสดงนวัตกรรมพลังงานสะอาด และยานยนต์พลังงานสะอาดชั้นนำของโลก

นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านพลังงานควบคู่ไปกับการระบาดใหญ่ของโควิดและสถานการณ์วิกฤตพลังงานของโลกในปัจจุบัน โดยภายในการประชุมสุดยอดผู้นำ COP26 Leader’s Summit ประเทศไทยได้ประกาศตั้งเป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608

- Advertisment -

ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังเดินหน้ากำหนดแผนพลังงานแห่งชาติ 2565 เพื่อมุ่งสู่อนาคตแห่งพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดรักษ์โลก พร้อมกับความมั่นคงและการแข่งขันด้านพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดยดำเนินงานตามนโยบาย 4D ซึ่งประกอบด้วย การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) การผลิตไฟฟ้าแบบกระจายตัว และความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า (Decentralization) การเปิดเสรีด้านพลังงานเพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม และการแข่งขันอย่างเป็นธรรม (Deregulation) และ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านพลังงาน (Digitalization)

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญระดับโลก  โดยคณะกรรมการนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้อนุมัติเป้าหมายในการส่งเสริมยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle หรือ ZEV) ซึ่งเรียกว่านโยบาย 30@30 เพื่อส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ถึง 30% ของการผลิตทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งภายใต้นโยบายดังกล่าว มีมาตรการสนับสนุนและข้อเสนอจูงใจหลายประการในการกระตุ้นตลาดยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ การสนับสนุนการลงทุนสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การกำหนดมาตรฐานและข้อบังคับสำหรับการขอใบอนุญาต และการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลยานยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาโรงงานให้มีขนาดกำลังการผลิตอยู่ที่ 40 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี ภายในปี พ.ศ. 2573 รวมถึงวางแผนติดตั้งสถานีฟาสต์ ชาร์จจิ้ง (Fast Charging) ให้ได้ 12,000 ยูนิตทั่วประเทศ

นอกจากนี้ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างกำลังผลักดันให้เกิดแนวปฏิบัติด้านพลังงานในทิศทางเดียวกัน โดยประเทศในภูมิภาคอาเซียนเตรียมมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในระหว่างปี พ.ศ. 2593 – 2613 ดังนั้นการรวมตัวสุดยอดผู้นำระดับโลกกว่า 130 คน ในงาน “ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี่ เอเชีย” และ “ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย” ภายในงานนิทรรศการและการประชุมสุดยอดในงาน ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย จะเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ พร้อมผนึกกำลังเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานระดับนโยบาย

นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน (ขวา) และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) (ซ้าย)

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ได้บรรยายในหัวข้อ “เส้นทางลัดสู่การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของประเทศไทย บทบาทของก๊าซ พลังงานหมุนเวียน และจุดมุ่งหมายของอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทย” ให้ผู้เข้าร่วมงานฟัง ว่า แนวโน้มสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน จากการใช้ถ่านหิน และน้ำมัน ก็เปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น

ซึ่ง ปตท. ได้ปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยจะเน้นการลงทุนด้านพลังงานทดแทนมากขึ้น ทั้งด้านการผลิตไฟฟ้า และธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตลอดห่วงโซ่ ได้แก่ ด้านแบตเตอรี่ การสร้างโรงงานผลิตรถ EV ตามการออกแบบของค่ายรถยนต์แต่ละแบรนด์ โดยคาดว่าจะได้เห็นรถ EV คันแรกที่ผลิตขึ้นจากโรงงานดังกล่าวในปี ค.ศ. 2024 และการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายติดตั้งให้ได้ 500 แห่งใน 10 ปีจากนี้ จากปัจจุบันมีกว่า 100 แห่ง

ส่วนก๊าซธรรมชาติถือเป็นพลังงานฟอสซิลที่สะอาดที่สุด และยังเป็นพลังงานสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยประเทศไทยตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การซื้อขายก๊าซธรรมชาติของอาเซียน ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ไทยเป็นฮับเกิดจากเหตุผลหลักๆ คือ ประเทศไทยมีความต้องการใช้ก๊าซฯ สูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจรจาซื้อก๊าซฯ จากแหล่งผลิต เพื่อมาป้อนความต้องการใช้ในประเทศก่อน และหากเหลือจึงจะส่งออก โดยในปี พ.ศ. 2565 ความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านตัน สูงกว่าปี 2564 ที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 5.9 ล้านตัน ซึ่งที่ผ่านมาไทยเคยทดลองส่งออกไปจำหน่ายยังญี่ปุ่น จีน สปป.ลาวและกัมพูชา และไทยมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการจัดเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในปริมาณมากถึง 19 ล้านตันต่อปี ซึ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน จึงสามารถเป็นฮับการซื้อขายก๊าซฯ ในอาเซียนได้ โดย ปตท. ตั้งเป้าซื้อขาย LNG ในภูมิภาคอาเซียนในปี ค.ศ. 2030 ให้ได้ 9 ล้านตันต่อปี

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวภายหลังการร่วมประกาศความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทยว่า การร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ระดับ 40 ล้านตันในหลุมเจาะปิโตรเลียมต่างๆ ในอ่าวไทย ที่คาดว่าจะเริ่มกักเก็บได้ในปีค.ศ. 2040 ซึ่งการกักเก็บคาร์บอนฯ ขนาดใหญ่ได้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐในด้านการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ที่ไม่มีเจ้าของในอ่าวไทยมาดำเนินการได้  เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ตามที่ประกาศไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำ COP26 โดยหลังจากนี้จะมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการต่อไป

สำหรับ ปตท.สผ. กำลังทดลองใช้หลุมเจาะปิโตรเลียมแหล่งอาทิตย์ในพื้นที่อ่าวไทยที่ได้ใช้ผลิตปิโตรเลียมไปแล้ว มากักเก็บคาร์บอนฯ ประมาณ 4-5 หลุม ซึ่งคาดว่าจะสามารถกักเก็บได้ 1 ล้านตันต่อปี โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบด้านวิศวกรรม นอกจากนี้กำลังศึกษาการกักเก็บคาร์บอนฯ ในแหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี เป็นโครงการต่อไปซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้เร็วๆนี้  โดยปตท.สผ.ตั้งงบ 5 ปี ระหว่างปีพ.ศ. 2565-2569 เพื่อทดลองดำเนินการการกักเก็บคาร์บอนฯ ดังกล่าวเป็นวงเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โดยทั้งงานนิทรรศการภายในงาน ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี่ เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย ได้จัดขึ้นบนพื้นที่กว่า 14,000 ตารางเมตร พร้อมองค์กรผู้ร่วมจัดแสดงสินค้าและนวัตกรรมจำนวนมาก ครอบคลุมทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าด้านพลังงานและยานยนต์พลังงานสะอาด โดย ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี เอเชีย มีหัวใจสำคัญคือการผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแบ่งโซนการจัดแสดงออกเป็น 4 โซนหลัก ได้แก่ 1. ไฮโดรเจน 2. ก๊าซธรรมชาติ และ LNG 3. เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน และ 4. พลังงานหมุนเวียน โดยมีไฮไลท์สำคัญ อาทิ กลุ่มความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์แห่งประเทศไทย (Thailand CCUS Technology Development Consortium) รวมถึงการจัดแสดงเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เทคโนโลยี AI และนวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต โดย ปตท. และ ปตท.สผ.

สำหรับงาน ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย เป็นงานนิทรรศการและสุดยอดการประชุมที่ทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางของการเจรจาและเป็นเวทีผู้นำทางความคิดด้านยานยนต์พลังงานสะอาดระดับโลก เพื่อสนับสนุนภารกิจในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่อนาคตยานยนต์พลังงานสะอาดที่เป็นอิสระและมีความเชื่อมโยงกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้แสดงสินค้าจากองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมจากกว่า 18 ประเทศ โดยภายในงานมีกิจกรรมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้เข้าร่วมงานและอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด อาทิ การจัดแสดงด้านยานยนต์พลังงานสะอาดของประเทศไทย โซนจัดแสดงนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสุดล้ำสมัย พร้อมการสาธิตและทดลองขับยานยนต์ไฟฟ้า โดยผู้เข้าร่วมจะสามารถเข้าถึงระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาดได้อย่างครบวงจร ซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิตอุปกรณ์ดั้งเดิม (OEM) สำหรับรถยนต์โดยสาร รถยนต์เพื่อการพาณิชย์, ซัพพลายเออร์หลังการขาย (Aftermarket supplies) ผู้ให้บริการแบตเตอรี่ ระบบจัดเก็บพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบชาร์จ และเทคโนโลยีเพื่อการอำนวยความสะดวกหลายรูปแบบ

ทั้งนี้ภายในงาน ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี่ เอเชีย ได้มีการประกาศความร่วมมือระหว่างกลุ่มความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) แห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งโดยหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับประเทศ เป้าหมายหลักของความร่วมมือในครั้งนี้ คือการร่วมสนับสนุนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดังกล่าว ตั้งแต่ขั้นตอนการวิจัยไปจนถึงการใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่งาน ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย จะมีส่วนสำคัญในการร่วมเป็นสักขีพยานของพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) สองฉบับ ระหว่างหน่วยงานจากสิงคโปร์และไทย ได้แก่ SWAT Mobility ร่วมกับ ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น  เพื่อกำหนดข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินการศึกษาการใช้ปัญญาประดิษฐ์และแมชชีนเลิร์นนิ่งในการวางแผนเส้นทาง  และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งรถไปรษณีย์ เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนในการขับขี่ รวมถึงพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง บ้านปูเน็กซ์ เชิดชัย และ ดูราพาวเวอร์ ในการร่วมมือกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนผลิตระบบแบตเตอรี่ในประเทศไทยเพื่อรองรับการเติบโตของสมาร์ท โมบิลิตี้

สำหรับงาน ฟิวเจอร์ เอนเนอร์ยี่ เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 ก.ค. 2565 นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ฮอลล์ 98 – 99 ตัวแทนและผู้เข้าร่วมประชุมสามารถลงทะเบียนและเข้าร่วมงานได้ภายในงานหรือผ่านทาง www.futureenergyasia.com และ www.future-mobility.asia

Advertisment