Fuels for the Future and the 2-degree Technologies เปลี่ยนโลกพลังงานใน20ปี

1370
- Advertisment-

บทความ โดย คอลัมนิสต์รับเชิญ  ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร (ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน)

ตอนนี้เขียนเกี่ยวกับเรื่อง Fuels for the Future and the 2-degree Technologies ที่จะเปลี่ยนโลกพลังงานใน 20 ปีข้างหน้า หนีไม่พ้นเรื่อง 1. พลังงานทดแทนทุกประเภท (Renewable Energy – RE) 2.ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas – NG) และ 3. การอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency – EE) 

____________________

- Advertisment -

เมื่อเดือนก่อนผมมีโอกาสเข้าร่วมงานประชุมใหญ่ระดับนานาชาติที่มีชื่อว่า CERA Week ซึ่งย่อมาจาก Cambridge Energy Research Associates บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังที่จัดตั้งขึ้นโดยกูรูด้านพลังงานคนหนึ่ง ชื่อว่า Daniel Yergin แม้ต่อมาบริษัทนี้จะถูกเทคโอเวอร์โดยบริษัทที่ใหญ่กว่าคือ บริษัท IHS แต่งาน CERA Week ก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ย้ายจากจัดแถวๆ เมืองบอสตัน มาเป็น ฮูสตัน แทน และธีมงานในปีนี้ของ CERA Week 2019 ตั้งไว้ได้น่าสนใจมาก คือ “Fuels of the Future” หรือเชื้อเพลิงแห่งอนาคต…..ส่วนว่าจะคืออะไร ผมจะเฉลยในย่อหน้าถัดไป แต่ผมจะขอผนวกกับอีกเรื่องซึ่งได้มาจากการไปร่วมฟังบรรดากูรูทั้งหลายด้านพลังงานด้วย ก็คือ มีการฟันธงว่ามีเทคโนโลยี 5 เรื่องที่หากมีการทุ่มทุนพัฒนาและดันให้สุดๆ ไปอีกหน่อย จะทำให้โลกนี้รอดพ้นวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพบรรยากาศเพื่อช่วยให้โลกเย็นขึ้น แถมจะเป็นตัวชะลอความร้อนของโลกให้ร้อนน้อยลงอีกอย่างน้อย 2 องศาแน่นอน ครับ

แต่ก่อนอื่น …ต้องขอเฉลยก่อนว่า Fuels for the Future ใน 20 ปี ข้างหน้า คือ 3 เรื่องหลัก ดังนี้

  1. พลังงานทดแทนทุกประเภท (Renewable Energy – RE)

2. ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas – NG) และ

 3.การอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency – EE)

สองข้อแรกทุกคนคงไม่แปลกใจแน่ ๆ เพราะว่าคุณสมบัติครบทั้งในเรื่องกายภาพที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ปล่อยน้อยที่สุด อีกทั้งปริมาณยังมีมากมายมหาศาลทั้งในด้านศักยภาพทางเทคนิคและทางพาณิชย์ เทคโนโลยีการจัดหาและการผลิตก็ไม่มีค่ายใดผูกขาดตายตัวทำให้มีผู้เล่นในตลาดมากมาย หลายเชื้อชาติ และสุดท้ายที่สำคัญ คือ ปัจจุบันราคาไม่แพงและมีทิศทางถูกลงเรื่อยๆ เสียด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงได้รับการฟันธงว่าทั้ง พลังงานทดแทนและก๊าซธรรมชาติ จะเป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคต ซึ่งทำให้หัวข้อสัมมนาที่ว่าด้วย Gas and Renewables Integration เป็นหัวข้อยอดฮิตเลยที่เดียว

แต่ข้อสาม เรื่อง Energy Efficiency (EE) นี่สิที่น่าสนใจ ทั้ง ๆ ที่น่าจะเป็นข้อแรก และควรจะเป็นมาตั้งนานแล้ว แต่ผมคิดว่าคนคงลืม เลยกลับมาขยายความให้ชัดอีกครั้งว่าในอนาคตเรื่อง EE คงไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ หรือทำแบบแฟชั่นไฟไหม้ฟางเท่านั้น คงจะต้องมีการพัฒนา ส่งเสริม และใช้กลไกภาคบังคับที่ผสมผสานมากขึ้นแน่ๆ อีกทั้งยังคงต้องมีการผลักดันเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทั่วทั้งโลก ซึ่งก็คือการยกระดับให้เรื่องการอนุรักษ์พลังงานมีความเข้มข้นและเป็นที่สนใจในการลงทุนจากทุกภาคส่วนของสังคม ผมเองคิดว่าเรื่องนี้ ประเทศไทยเองก็ทำมานาน กลไกดีๆก็มีเยอะ แต่ยังดูห่างไกลมากกว่าที่จะจับต้องได้ให้เป็นรูปธรรม

สรุปเรื่อง EE เป็นเรื่องที่ไทยต้องเหลียวหลังก่อนแลไปข้างหน้า ให้คมชัดลึกมากกว่านี้ครับ

ส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีที่จัดแสดงในงาน

ส่วนทั้งสามประเด็นพลังงานคือ RE+NG+EE นอกจากจะเป็นทิศทางสำหรับอนาคตแล้ว อาจจะมีบริษัทจากหลายค่ายหลายประเทศมาลงทุนพัฒนาและลงทุนกันอย่างมากมายแน่นอน โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 2 องศา อย่างไรก็ตามก็มีกลุ่มนักเทคโนโลยีและนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งที่คิดว่า เพียงอาศัยแค่ RE+NG+EE แค่สามเทคโนโลยีเท่านั้นไม่น่าจะเพียงพอ ยังต้องมีอีก 5 เทคโนโลยีที่จะสามารถเข้ามาช่วยเสริมได้ แต่ยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอีกสักระยะก่อนที่จะกลายเป็นเทคโนโลยีหลักที่สำคัญต่อไปในอนาคต ดังนี้ ครับ

  1. Energy Storage System (ESS) : ตอนนี้ไม่มีใครสงสัยแล้วล่ะครับว่าระบบ ESS หรือแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้ RE+NG Integration เป็นไปอย่างไร้รอยต่อ หรือแม้กระทั่งนำไปสู่ระบบ RE-100% ได้อีกด้วย ประเด็นพัฒนาที่ต้องรีบแก้ไขคือเรื่องต้นทุน ที่ต้องพัฒนาให้ลดต่ำลงมากกว่านี้ และประเด็นที่หลายฝ่ายอยากเห็นคือการสามารถที่จะใช้แร่ธาตุอื่นแทน ลิเธียม (Li) เพื่อมาปลดแอกการพึ่งพาแร่ลิเธียมที่ตอนนี้มีมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ไปกวาดต้อนซื้อเข้าค่ายไว้หมดแล้วครับ

2. Smart and Super Grid : เรื่องความสามารถของสายส่งเป็นอีกเรื่องที่จะสนับสนุน ความฝันของระบบ RE-100% เพราะระบบกริดอัจฉริยะจะมาช่วยสร้างความยืดหยุ่นคือในระบบไฟฟ้าที่มีระบบผลิตแบบกระจายตัวและมีจำนวนมาก หัวใจสำคัญคือระบบควบคุมที่จะทำให้เกิดการไหลวนของอิเล็กตรอนไฟฟ้าเป็นอย่างสมดุลย์และเป็นปัจจุบัน (Real Time Balancing) ส่วนอีกระบบคือเรื่องการพัฒนา Super Grid ด้วยเทคโนโลยี Ultra High Voltage Linkage ที่จะสามารถขนส่งปริมาณไฟฟ้ามหาศาลได้ในระยะทางไกล ๆ มาจากโจทย์ที่ว่า ศักยภาพพลังงานทดแทน เช่น น้ำ ลม แดด มักอยู่ในที่ที่ไม่มีเมืองใหญ่อยู่ใกล้ ๆ เลย ดังนั้นการขนส่งไฟฟ้าในปริมาณมากๆ ในระยะทางไกล ๆ ด้วยต้นทุนไม่แพง จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ครับ

 3. Fusesion Energy : หากเทคโนโลยีสองตัวแรกจะมาช่วยเสริมระบบ RE+NG+EE เทคโนโลยี Fusesion Energy นี้คงจะมา “แทน” ทุกสิ่งทุกอย่างในการผลิตไฟฟ้าและความร้อน เพราะเทคโนโลยี Fusesion Energy นี้คือการจำลองพระอาทิตย์นั่นเอง แต่งานนี้เป็นงานอภิมหาช้าง เพราะมีประเด็นที่ต้องวิจัยเยอะแยะมากมายมหาศาล แต่ถ้าทำได้จริง จะต้องถือว่าวิกฤติโลกร้อนจะจบข่าวและถูกปิดเกมทันที

4. Carbon-Capture-Storage (CCS) และ 5.CO2-Enhanced Oil Recovery (EOR) : ส่วน 2 เทคโนโลยีท้ายนี้คงจะยังอยู่คู่กับการผลิตปิโตรเลียม ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (NG) และเป็นสองเทคโนโลยีที่อาจจะต้องไปควบคู่กัน ระหว่าง เทคโนโลยี CCS และ CO2-EOR เพราะเทคนิคคือการนำก๊าซ CO2 ที่เป็นสารเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติ มาอัดกลับลงใต้ดิน ไม่ว่าจะอัดแล้วกักเก็บไว้ยาวเลย (เทคโนโลยี CCS) หรือ อัดเพื่อนำไปไล่เศษน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติใต้ดินเพื่อเสริมการผลิตน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ครับ หากอัดกลับได้มากเท่าไหร่ (ในต้นทุนที่ไม่แพงนัก) ก็จะช่วยตัดวงจรในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้ครับ

ส่วนหนึ่งของเวทีเสวนาในงาน CERA Week 2019

ดังนั้นในอนาคต 20 ปีข้างหน้า สรุปได้คร่าวๆว่า ทุกชาติจะเน้นเรื่อง 3 ประเด็นพลังงาน คือ RE+NG+EE แน่นอน แต่ประเทศใดที่จะสามารถก้าวเข้ามาเป็นแนวหน้าในสารระบบพลังงานของโลกนี้ได้จะต้อง มีกระบวนการผลิตหรือพัฒนา 5 เทคโนโลยีชุดต่อไปนี้ ได้แก่ ESS, Smart+Super Grid, Fusesion Energy, CCS และ CO2-EOR …ฟันธง ครับ

Advertisment