EVดัดแปลงฝีมือ กฟผ.หวังตอบโจทย์คนงบน้อย ลดปัญหามลพิษเมืองใหญ่

5515
- Advertisment-

ลองนึกภาพดูว่าหากสภาพการจราจรในเมืองใหญ่ยังแน่นขนัดไปด้วยรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน แถมส่วนหนึ่งยังเป็นรถยนต์เก่าที่ปล่อยควันดำโขมง เราจะต้องสิ้นเปลืองน้ำมันไปอีกมากแค่ไหน สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนเมืองจะย่ำแย่ลงไปอย่างไร การพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle)หรือEV จึงเป็นแนวโน้มในอนาคตที่จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยEVจะเข้ามาทดแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ที่ไม่ปล่อยมลพิษจากไอเสีย ทำให้สภาพแวดล้อมของเมืองใหญ่ อย่างกรุงเทพมหานครนั้น น่าอยู่ยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็ได้มีแผนส่งเสริมเรื่องของEV อย่างเป็นระบบและอยู่ในระหว่างการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ

อย่างไรก็ตามด้วยราคาEVที่ผลิตออกมาจากโรงงานยังคงมีราคาแพง จนผู้ที่จะซื้อรถยนต์คันใหม่เข้าถึงได้ยาก ในขณะที่ผู้ใช้รถยนต์เติมน้ำมันคันเก่า ก็ไม่เกิดแรงจูงใจให้เปลี่ยนมาใช้รถคันใหม่ที่เป็นรถEV ได้เร็วอย่างที่ต้องการ ทางออกหนึ่งที่จะมาช่วยแก้ปัญหาคือ การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงให้มีต้นทุนการเปลี่ยนเครื่องยนต์ที่ถูกลง สามารถวิ่งได้ระยะทางที่ไกลขึ้น ซึ่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กำลังพัฒนาร่วมกับทาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อยู่ในขณะนี้

ก่อนหน้านี้ กฟผ.ก็มีการดัดแปลงรถยนต์เก่า Honda Jazz ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบรุ่นแรก ที่สร้างความฮือฮาให้กับผู้ที่สนใจในเรื่องของนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว ซึ่งโครงการวิจัยพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือการดัดแปลง (EV Kit & Blueprint Project)ของกฟผ.และสวทช. ร่วมมือกัน ที่เป็นระยะที่2ของการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง นั้น เริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.2560 โดยเลือกดัดแปลงรถยนต์ประเภท Eco Car ยี่ห้อ Nissan Almera ซึ่งเป็นระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน(Internal Combustion Engine –ICE) มาเป็นระบบรถยนต์ไฟฟ้า(Battery Electric Vehicle -BEM) จำนวน 2คัน และเมื่อปลายเดือนพ.ย.2561 ที่ผ่านมา ก็ได้มีพิธีรับมอบรถยนต์ที่ดัดแปลงแล้วเสร็จมาทดลองขับใช้แล้ว

- Advertisment -

โดยรถยนต์ Nissan Almera ขนาดเครื่องยนต์ 1200 ซีซี ที่เป็นรถยนต์เก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ซึ่งนำมาพัฒนาและดัดแปลงให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า มีกำลังส่งออกสูงสุดของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ 61.86 กิโลวัตต์ ใช้เวลาในการชาร์จแบตเตอรี่จนเต็มประมาณ 12 – 15 ชั่วโมง ณ เครื่องอัดประจุแบบ normal charge ที่เราเห็นโดยทั่วไป แต่หากเป็นการชาร์จด้วยการอัดประจุแบบเร็ว ด้วยไฟฟ้า 3 เฟส (fast charge) จะใช้เวลาอัดประจุเพียง 2 – 3 ชั่วโมง รถคันดังกล่าวมี ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งได้ในระยะทางประมาณ 150 – 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง (ด้วยการวิ่งความเร็วเฉลี่ย 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะวิ่งได้ระยะทาง 200กิโลเมตร )มี ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงประมาณ60 สตางค์ต่อกิโลเมตร ซึ่งประหยัดกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันที่มีต้นทุนเชื้อเพลิงอยู่ที่ประมาณ 1บาทต่อกิโลเมตร

สำหรับแผนการพัฒนาขั้นต่อไป ในราวเดือนมิ.ย.2562 ทั้งกฟผ.และสวทช.จะร่วมกันพัฒนารถยนต์ดัดแปลงขนาดกลาง คือToyota Altis จำนวน2คัน กำหนดดัดแปลงแล้วเสร็จประมาณเดือนธ.ค.2562 พร้อมตั้งเป้าในปี 2563 จะเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี และนำแบบทางวิศวกรรม(Blueprint )ไปขยายผลในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้มีการเกิดการใช้งานในวงกว้างมากขึ้น

โครงการวิจัยพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง หรือ (i-EV) ที่ กฟผ.ร่วมกับ สวทช.ดำเนินการพัฒนามาเป็นลำดับนั้น ตั้งเป้าที่จะทำให้ต้นทุนการดัดแปลงลดลงจนเหลือไม่เกินคันละ 2 แสนบาท (ไม่รวมแบตเตอรี่) ซึ่งเป็นระดับราคาที่ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะเป็นเจ้าของได้ เพราะถูกกว่ารถยนต์ไฟฟ้านำเข้าที่ ปัจจุบันยังมีราคาสูงถึงคันละ 3 – 4 ล้านบาท

ทั้งนี้หากการทำการตลาดเชิงพาณิชย์ สามารถที่จะจูงใจให้ผู้ใช้รถนำรถยนต์เก่าที่ใช้น้ำมัน เปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ภายใต้คอนเซ็ปต์“ ต้นทุนต่ำ วิ่งไกล โดนใจชาวบ้าน “เป็นที่นิยมแพร่หลาย ก็ถือได้ว่าเป็นการพลิกโฉมวงการรถยนต์ไฟฟ้าของไทย โดย กฟผ.จะกลายเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการเข้ามามีส่วนในการช่วยลดมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่ และช่วยให้เกิดการประหยัดเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายสำหรับประชาชนและประเทศชาติโดยรวมลงได้ อีกทั้งยังส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าใช้เองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ พร้อมต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีศักยภาพของประเทศสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ สนองนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคในอนาคต

Advertisment