กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) เสนอหลายแนวทางให้รัฐเร่งแก้ปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึงระดับ 50% สร้างภาระค่าไฟผู้บริโภค โดยให้เจรจาโรงไฟฟ้าของเอกชนที่ได้รับอนุมัติโดยมิได้ผ่านการประมูล (โรงไฟฟ้าหินกอง 1,400 เมกะวัตต์) ให้ชะลอการลงทุนและเลื่อนกำหนดการเข้าสู่ระบบ (COD) พร้อมปรับแผน PDP สอดคล้องให้ทันต่อสถานการณ์ ไม่ให้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA ) กับโรงไฟฟ้าใหม่ที่เป็นแบบ Firm นอกเหนือจากที่ได้มีการลงนามไปแล้ว
วันนี้ (28 ตุลาคม 2563) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ปี ของ ERS
โดยนายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า เมื่อมองย้อนไปในทศวรรษที่ผ่านมา พบว่าภาครัฐได้มีการอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟาเพิ่มโดยมิได้ทบทวนแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าในระยะยาวที่ลดลงอย่างเพียงพอ อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหลายช่วง รวมทั้งการคาดการณ์ที่ต่ำเกินไปของการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบใช้เอง (Prosumer) ของภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ผนวกกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประเทศมีปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึงระดับ 50% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกหากภาครัฐไม่มีการดำเนินการใดๆ เนื่องจาก ในปี 2565 เป็นต้นไป จะยังมีโรงไฟฟ้าใหม่ของเอกชนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวไปแล้ว จะจ่ายไฟเข้าสู่ระบบอีก
ทั้งนี้ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นภาระต่อผู้บริโภคเนื่องจากระบบค่าไฟฟ้าเป็นแบบส่งผ่านต้นทุนเพราะ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งเพียงรายเดียว
” ปกติตามหลักเศรษฐศาสตร์ สินค้าใดที่ซัพพลายมีสูงกว่า ดีมานด์ ราคาควรจะลดลง แต่กรณีของไฟฟ้า จะเป็นตรงกันข้าม เพราะมีการตกลงราคากันไว้เป็นสัญญาระยะยาว ดังนั้น ยิ่งมีซัพพลายมากกว่าดีมานด์ ก็ยิ่งเป็นต้นทุนแฝงในค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งเป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้า ” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ERS มีข้อเสนอในหลากหลายมาตรการเพื่อลดผลกระทบในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะจัดทำเป็นหนังสืออย่างเป็นทางการส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานด้วย โดยเสนอให้มีการ ทบทวนหลักเกณฑ์ทางการเงินในการกำหนดค่าไฟฟ้าฐานใหม่ เพื่อลดค่าไฟฟ้าฐานลงและสร้างแรงจูงใจให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพมากกว่าระบบปัจจุบันที่รับประกันผลตอบแทน
ในส่วนของกำลังผลิตใหม่
เสนอให้เร่งเจรจาชะลอการลงทุนและเลื่อนกำหนดการเข้าสู่ระบบ (COD) ของหน่วยผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะของเอกชนที่ได้รับอนุมัติโดยมิได้ผ่านการประมูล
ในส่วนของกำลังผลิตที่ติดตั้งไปแล้ว ให้ปรับระบบการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในส่วนที่เรียกกันว่า Merit Order โดยจัดให้โรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้งเอกชนและของรัฐแข่งกันเสนอราคาขายที่ต่ำที่สุด ซึ่งอาจจะต่ำกว่าค่าพลังงานที่เคยระบุไว้ในสัญญา
รัฐควรใช้เงื่อนไขตามสัญญาเพื่อลดหรือเจรจาลดการซื้อในส่วนที่เป็นสัญญาผูกมัด (Must take) และลดการจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่สามารถลดได้ และไม่ต่อใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น
ในด้านการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP ควรปรับปรุงกระบวนการให้ทันสมัย โปร่งใส และมีความยืดหยุ่น สะท้อนความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ควรจะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA ) กับโรงไฟฟ้าใหม่ที่เป็นแบบ Firm นอกเหนือจากที่ได้มีการลงนามไปแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดกำลังผลิตที่เกินความจำเป็นและเป็นปัญหาที่ยาวนาน
ส่วนในระยะยาว หากปฏิรูปให้มีตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี สถานการณ์กำลังผลิตสำรองล้นเกินจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงแทนที่จะสูงขึ้น ดังนั้น จึงควรเปิดบริการสายส่งสายจำหน่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (TPA) เช่นเดียวกับที่ได้มีการเปิด TPA ระบบท่อก๊าซธรรมชาติและคลังนำเข้า LNG ไปแล้ว การแข่งขันตลอดสายจะทำให้ระบบมีทั้งความมั่นคงและได้ค่าไฟฟ้าที่ต่ำลงสำหรับผู้บริโภค กลุ่ม ERS จึงเสนอให้เตรียมการออกแบบตลาดไฟฟ้าที่มีทั้งการประมูลค่าพลังงานไฟฟ้า และการประมูลค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้องกันปัญหาค่าไฟพุ่งขึ้นสูงมากในช่วงขาดแคลน โดยมีเงื่อนไขการแบ่งภาระความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ากับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นช่วงกำลังผลิตสำรองเกิน หรือขาด หรือสมดุล
“ERS ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่อย่างอิสระด้วยความโปร่งใส มีความเข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน อาทิ ใช้การประมูลแทนดุลพินิจในกรณีที่ทำได้ เปิดเผยรายละเอียดที่มาของค่าไฟฟ้าฐาน เช่น ต้นทุน (ราคารับซื้อ) ของโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ และการคืนเงินค่าลงทุนที่ไม่ได้ใช้จริงในค่าไฟฟ้าฐานที่เก็บกับผู้บริโภคไปแล้ว รวมทั้งให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เปิดเผยข้อมูลลักษณะเดียวกับที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รายงานในแบบ 56-1” นาย ปิยสวัสดิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) กล่าวว่า หนึ่งในข้อเสนอของERS ที่ให้รัฐเจรจากับโรงไฟฟ้าของเอกชนที่ได้รับอนุมัติโดยมิได้ผ่านการประมูล ให้ชะลอการลงทุนและเลื่อนกำหนดการเข้าสู่ระบบ (COD) เพื่อแก้ปัญหาปริมาณสำรองในระบบที่อยู่ในระดับสูงนั้น อาจจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก เมื่อวันที่29 กันยายน ที่ผ่านมา ทางบริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นทั้งจำนวนโดยบริษัท หินกองเพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ฯ (ถือหุ้นร้อยละ 51) กับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ถือหุ้นร้อยละ 49) ได้ลงนามในสัญญาจ้างออกแบบวิศวกรรม จัดหา และก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง กำลังผลิตติดตั้งรวม 1,400 เมกะวัตต์ กับ 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เอ็มเอชไอ พาวเวอร์ โปรเจกต์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท มิตซูบิชิ เพาเวอร์ จำกัด พร้อมทั้งลงนามในสัญญาบริการซ่อมบำรุงและจัดหาอะไหล่ระยะยาว กับบริษัท เอ็มเอชไอ พาวเวอร์ โปรเจกต์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมิถุนายน 2564 และใช้เวลาประมาณ 43 เดือน โดยโรงไฟฟ้าชุดที่ 1 ขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์กำหนดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 25 ปี ในเดือนมีนาคม 2567 และชุดที่ 2 อีก 700 เมกะวัตต์ ในเดือนมกราคม ปี 2568